รู้หรือไม่ว่า ในแต่ละวันอาหารที่เรารับประทานนั้นมีเกลือเป็นส่วนผสมอยู่มากน้อยเพียงใด เพราะแม้โซเดียมจะเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายต้องการ แต่ปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวันคือ ไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือแกงปริมาณ 6 กรัม (1 ช้อนชา)
.
ในขณะที่ในน้ำปลาหรือซีอิ๊วหนึ่งช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียมมากถึง 1,000 มิลลิกรัม ยังไม่รวมอาหารอีกมากที่มีส่วนผสมของเกลือโซเดียมปริมาณสูง โดยเฉพาะอาหารแห้ง อาหารหมักดอง และเครื่องปรุงรส เช่น กะปิ น้ำปลา ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารไทย
.
นอกจากนี้ การบริโภคเกลือมากเกินความต้องการยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจขาดเลือด
.
เพื่อสุขภาพของคุณและคนที่คุณรัก ชวนกันปรับเปลี่ยนนิสัย การรับประทานอาหารให้จืดลง หรือเริ่มต้นด้วยการลดปริมาณเกลือในอาหารด้วย 8 เคล็ดลับง่ายๆ ที่เรานำมาฝากค่ะ
.
1. จำกัดการใช้เกลือ หรือเครื่องปรุงรสในการปรุงอาหารและบนโต๊ะอาหาร
2. ชิมอาหารทุกครั้ง ก่อนที่จะมีการเติมเครื่องปรุงทุกชนิด
3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูงหรือมีรสเค็มจัด เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็งและปรุงสำเร็จอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ และขนมขบเคี้ยว
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงมาจากเครื่องปรุงที่มีเกลือโซเดียมมาก แต่ไม่มีรสเค็ม เช่น อาหารใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมท) อาหารใส่ผงฟู (โซเดียมไบคาร์บอเนต) อาหารใส่สารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต)
5. เมื่อจับจ่ายซื้ออาหารสำเร็จรูป อ่านฉลากกำกับทุกครั้ง และเลือกชื้ออาหารที่ระบุชัดเจนว่ามีโซเดียมต่ำ หรือ ไม่มีเกลือหรือไม่เติมเกลือ เท่านั้น
6. ถ้าต้องการเพิ่มรสชาติอาหาร ให้ใช้เครื่องเทศแทนการใช้เกลือ เช่น น้ำส้ม มะนาว กระเทียม ขิง หัวหอม พริกหรือใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมต่ำแทนเครื่องปรุงรสสูตรปกติ
7. เลือกรับประทานอาหารสดจากธรรมชาติ เช่น ผักผลไม้ ข้าวซ้อมมือ
8. ลดความถี่ของการรับประทานอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุง เช่น สุกียากี้