“นอนเกิน” โรคแห่งความสุขบนความเสี่ยง
“การนอน” คือการพักผ่อนร่างกายและจิตใจที่ดี ไม่ว่าวันนั้นเราจะต้องเจออะไรมาก็ตาม การนอนจะช่วยเยียวยาทุกอย่างให้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย
แต่ใช่ว่าการนอนจะดีเสมอไป เพราะว่านอนน้อยเกินไปก็ไม่ดีต่อร่างกาย...หรือถ้า “นอนมากเกินไป” ก็ไม่ได้ เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นเดียวกัน
โรคนอนเกิน (Hypersomnia) เป็นโรคที่หลับเกินพอดี ขี้เซา นอนเท่าไรก็ไม่พอ ง่วงนอนตลอดเวลา งีบหลับระหว่างวันหลายครั้ง แม้แต่ในเวลากินข้าว หรือพูดคุยกับคนอื่นก็ยังหลับได้ มีการนอนที่นานเกิน 8 ชั่วโมง โรคนี้ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรม นิสัยเกียจคร้าน หรือบุคลิกภาพส่วนตัว แต่เกิดจากโรคทางกายหรือทางใจ ต้องรีบพบแพทย์
อาการของโรคนี้นอกจากจะง่วงนอนตลอดเวลาแล้วยังมีอาการเฉื่อยชา ไร้ชีวิตชีวา กินน้อยแต่อ้วนง่าย เพราะร่างกายไม่ได้เผาผลาญ นอนมากเท่าไรก็ง่วง ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น นอกจากนี้ยังหงุดหงิดง่าย วิตกกังวล สมองช้า ความคิดไม่แล่น พูดจาไม่รู้เรื่อง วกวน มึนงง ความจำไม่ดี และมีอาการซึมเศร้า
สาเหตุที่เกิดโรคนี้มีหลายประการ มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กผู้ใหญ่ จึงควรระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุ ดังนี้
-อดนอนเป็นเวลานาน และอดนอนบ่อย จนร่างกายรู้สึกนอนไม่เพียงพอ
-นาฬิกาชีวิตแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น การต้องเดินทางไปต่างประเทศที่มีช่วงเวลาต่างกันมากๆ
-ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองผิดปกติ ทำให้นอนมากเกินไป
-นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจในช่วงหลับ ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่เพียงพอ
-สมองได้รับการบาดเจ็บ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับสมองต่างๆ
โรคนอนเกิน นอกจากมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายอีกด้วยซึ่งเป็นผลเสียระยะยาว อีกทั้งจะมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยคิดสั้นได้ นอกจากนี้แล้วยังมีผลเสียอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น
-ทำร้ายสมอง เพราะการนอนมากทำให้สมองเฉื่อยชา จะทำอะไรคิดอะไรก็เชื่องช้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา มึนงงตลอด ขยับตัวน้อยลง ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
-อ้วนง่ายต่อให้กินน้อยก็สามารถอ้วนได้เพราะร่างกายไม่ได้เผาผลาญ กระเพาะไม่ได้ทำงาน ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ
-มีอาการซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนง่าย ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข เพราะไม่มีการสำรวจกลุ่มผู้หญิงที่นอนเกิน 9 ชั่วโมงและนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง พบว่าสารแห่งความสุขของพวกเธอลดลงในเวลา 2 ปี
-มีบุตรยาก เพราะฮอร์โมนของผู้หญิงจะเป็นปกติก็ต่อเมื่อมีการพักผ่อนที่เพียงพอ
-เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตเร็ว โดยเมื่อปี 2010 มีผลวิจัยออกมาว่าผู้ที่นอนนานเกิน 9 ชั่วโมง จะเสียชีวิตเร็วว่าคนที่นอน 7-8 ชั่วโมง เพราะนอนมากทำให้ร่างกายไม่ได้ขยับ ไม่ได้เพิ่มออกซิเจนให้อวัยวะภายใน
-เสี่ยงต่อการหยุดหายใจแบบเฉียบพลัน หรือการไหลตาย เพราะเนื้อสมองตามเนื่องจากการดับไปของสัญญาณสมองที่นานเกินกว่าเวลานอนของคนปกติ
แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้... และวิธีแก้อาการนอนมากเกินไปก็มีหลายวิธี เช่น
-เข้านอนให้ตรงเวลาทุกวัน เมื่อตื่นแล้วให้ลุกจากเตียงเลย อย่าต่อเวลานอนออกไปอีก
-หากิจกรรมก่อนนอนง่ายๆ เช่น อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หวีผมเพื่อให้คุณได้ปรับตัว
-หาอะไรรองท้องก่อนนอน เพราะกินอิ่มก็จะนอนหลับสบายขึ้น เช่น นมอุ่นๆ สักแก้ว เพราะถ้าคุณหลับสบาย ตื่นขึ้นมาก็จะสดชื่น
-กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และงดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนทุกชนิด
-อย่ากลัวนอนไม่กล้านอน เพราะอาจทำให้คุณเครียด และกังวลจนนอนไม่หลับ และอาจทำให้นอนนานกว่าเดิม ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพทั้งคู่
การที่จะห่างไกลจากโรคนอนเกินนั้น นอกจากวิธีแก้แล้วก็ควรจะหาวิธีการนอนที่ดีและปรับให้ร่างกายชินกับการนอนที่ถูกต้อง เพื่อผลที่ดีในระยะยาว โดยการนอนที่ดี มีดังนี้
- นอนวันละ 6-8 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ควรมากหรือน้อยกว่านี้ ควรนอนและตื่นให้ตรงเวลา ไม่ควรเข้านอนเกิน 4 ทุ่ม และตื่นตี 5-6 โมงเช้า จะทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
- อาบน้ำก่อนนอนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเหนื่อยแสนเหนื่อยแค่ไหนก็ควรทำให้ร่างกายสะอาดก่อนนอน เพราะมันจะทำให้เรานอนสบายเนื้อสบายตัวขึ้น
- นอนตอนกลางคืน อย่าเป็นนกฮูกที่กลางคืนตื่นกลางวันหลับ หรือถ้าอยากงีบกลางวันก็ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้กลางคืนเรานอนไม่หลับ และจบลงด้วยการนอนนานขึ้นกว่าเดิม
- ทำนาฬิกาชีวิตให้เป็นระเบียบ ทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันให้เป็นแบบเป็นแผน ตรงเวลาและสม่ำเสมอ เพราะเมื่อทุกอย่างเป็นระบบระเบียบ สุขภาพกายและสุขภาพใจก็จะดีขึ้น
- ไม่ควรใช้ยานอนหลับ หากมีอาการนอนไม่หลับควรปรับวิธีการนอนด้วยตัวเอง
- เพราะการใช้ยาเป็นประจำจะทำให้เกิดการดื้อยา และเมื่อกินไปมากๆ เข้าก็จะส่งผลถึงตับได้ และในรายที่นอนมากเกินก็เช่นกัน เพราะยาจะไปกระตุ้นประสาทให้คุณไม่หลับ ทำให้อาจเกิดประสาทหลอนได้
ที่มา : ผู้จัดการ ออนไลน์
ที่มา : กรมสุขภาพจิต