แมงลัก
แมงลัก ชื่อสามัญ Lemon basil, Hoary basil, Hairy basil
แมงลัก ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum × africanum Lour. (ชื่อพ้อง Ocimum americanum var. pilosum (Willd.) A.J.Paton, Ocimum basilicum var. anisatum Benth., Ocimum × citriodorum Vis.) ในจัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
สมุนไพรแมงลัก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้อมก้อข้าว (ภาคเหนือ), มังลัก อีตู่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น
แมงลักเป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพราและโหระพา ลักษณะของต้นจะคล้ายกับต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่นและสีใบจะอ่อนกว่า มีลำต้นสูงประมาณ 30-80 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ดอกและช่อจะออกที่ปลายยอด อาจเป็นชื่อเดี่ยวหรือแตกออกเป็นช่อย่อย ๆ ดอกจะบานจากล่างไปบน กลีบดอกสีขาวแบ่งเป็น 2 ปากและร่วงง่าย เกสรตัวผู้จะยื่นยาวกว่ากลีบดอก ดอกย่อยออกโดยรอบก้านก่อเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีดอกย่อย 6 ดอก แบ่งเป็น 2 ส่วน ดอกตรงกลางจะบานก่อนและช่อดอกย่อยที่อยู่ชั้นล่างสุดของก้านช่อดอกจะบานก่อนเช่นกัน ผล 1 ดอกมีผล 4 ผล มีขนาดเล็ก เรียกว่าเม็ดแมงลัก ซึ่งมีลักษณะกลมรีและมีสีดำ
ต้นแมงลัก ส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็คือเมล็ดแมงลักและใบแมงลัก ซึ่งในส่วนของใบนั้นเรานิยมนำมาใช้ประกอบอาหารหรือใส่เครื่องแกงต่าง ๆ เช่น แกงเลียง เป็นต้น ส่วนเมล็ดก็นำมาใช้ทำเป็นขนมอื่น ๆ ได้หรือนำไปผสมกับเครื่องดื่มก็ได้ เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำขิง น้ำใบเตย (โจ๊กก็ได้นะ) โดยสามารถรับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และยังปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรอีกด้วย
Tip : วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างแมงลักกับโหระพาง่าย ๆ ก็คือ ใบแมงลักจะเล็กกว่าใบโหระพา มีลำต้นสีเขียวอ่อนเกือบขาว ส่วนใบโหระพาลำต้นจะออกสีม่วงแดง เมื่อนำมาเทียบกันแล้วโหระพาจะต้นใหญ่กว่าแมงลัก และใบแมงลักจะเป็นรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายและโคนของใบแหลม ขอบใบเรียวหรือหยักมน ๆ ซึ่งต่างจากใบโหระพาที่ขอบใบจะหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ
ในประเทศไทยนั้นแมงลักจะมีสายพันธุ์หลักเพียงสายพันธุ์เดียวนั่นก็คือ "ศรแดง" ที่เหลือก็จะเป็นพันธุ์ผสมหรือพันทาง ลักษณะของพันธุ์ศรแดงที่ดีนั้นใบต้องใหญ่พอดี ไม่เล็กเกินไป ดอกสีขาวเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร โดยข้อมูลจากกองโภชนาการกรมอนามัยระบุไว้ว่า แมงลัก 100 กรัมจะมีธาตุแคลเซียม 140 mg. และมีวิตามินเอ 590.56 mcg. ที่สูงกว่ากะเพราและโหระพา แต่กรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่ามี วิตามินเอ 9,164 IU และ วิตามินบี 2 0.14 mg. ซึ่งน้อยกว่ากะเพราและโหระพา แต่มีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ที่สูงกว่า เช่น ธาตุแคลเซียม 350 mg. ธาตุฟอสฟอรัส 86 mg. ธาตุเหล็ก 4.9 mg. วิตามินซี 78 mg. และวิตามินบี 1 0.3 mg. เป็นต้น
สำหรับใครที่เพิ่งเคยรับประทานเม็ดแมงลักในช่วง 2-3 วันแรกอาจจะยังไม่เห็นผลเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะว่าร่างกายกำลังปรับตัว แต่หลังจากรับประทานไปสักระยะหนึ่งก็จะดีขึ้นเอง แต่ถ้าหากรับประทานไปสักระยะหนึ่งแล้วไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงก็ต้องกลับมาพิจารณาทีละจุดว่าเราใส่น้ำในเม็ดแมงลักน้อยเกินไปหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้ใส่เยอะ ๆ หรือรับประทานอย่างถูกวิธีแล้วหรือไม่ (ควรรับประทานหลังอาหารเย็นประมาณ 3 ชั่วโมงกำลังดี) และคุณขับถ่ายในช่วงเวลาตี 5 ถึง 7 โมงเช้าหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะได้ผลน้อย หรือคุณรีบร้อนเกินไป ใช้เวลาขับถ่ายน้อย พยายามเร่งเวลาในการขับถ่ายทำให้ร่างกายไม่ผ่อนคลาย ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ดังนั้นก็อย่าเพิ่งรีบท้อกันไปก่อนละ
โทษของเม็ดแมงลัก
- การรับประทานเม็ดแมงลักในปริมาณมาก ๆ อาจจะเกิดอาการแน่นท้องรู้สึกไม่สบายตัวได้
- การรับประทานเม็ดแมงลักในขณะที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ อาจจะเกิดการดูดน้ำจากกระเพาะอาหารทำให้เม็ดแมงลักจับตัวกันเป็นก้อนและอุดตันในลำไส้ ซึ่งอาจทำให้ท้องผูกได้เช่นกันถ้ารับประทานแบบผิดวิธี
- ไม่ควรรับประทานเม็ดแมงลักพร้อมกับกับยาอื่น ๆ เพราะจะมีผลทำให้ร่างกายดูดซึมยาเหล่านั้นได้ไม่ดีและน้อยลง ดังนั้นควรทานยาก่อนสักประมาณ 15-30 นาทีแล้วค่อยรับประทานเม็ดแมงลักตาม
- สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก การรับประทานเม็ดแมงลักแทนมื้ออาหารหลักควรรับประทานเป็นบางมื้อ เพราะอาจจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆได้
- อีกสิ่งที่ต้องระวังไว้ก็คือการเลือกซื้อ ควรเลือกซื้อเม็ดแมงลักที่มีความสะอาดได้มาตรฐานน่าเชื่อถือ อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในที่เหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อาจมีเชื้อราหรือสารพิษอย่างอะฟลาทอกซินปนเปื้อนมาด้วยก็ได้ (สารอะฟลาทอกซิน เมื่อบริโภคจำนวนมากอาจทำให้อาการท้องเดิน อาเจียน และสะสมเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ)
ประโยชน์ของเม็ดแมงลัก
- เม็ดแมงลัก ลดความอ้วน เพราะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ มีสรรพคุณในการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นกรดน้ำดี และยังช่วยเพิ่มการขับออกของกรดน้ำดีด้วย ซึ่งจะไปลดเฉพาะคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) แต่ไม่มีผลใด ๆ กับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)
- เม็ดแมงลัก ลดน้ําหนัก ตัวช่วยสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมน้ำหนักและความอ้วน เนื่องจากเม็ดแมงลักไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และมันสามารถพองตัวได้มากถึง 45 เท่า ! เมื่อนำมารับประทานเป็นอาหาร (ควรรับประทานแค่บางมื้อต่อวัน เพื่อป้องกันโรคขาดสารอาหาร) หรือจะรับประทานก่อนอาหารเพื่อทำให้กระเพาะไม่ว่างและรู้สึกอิ่มเป็นการช่วยควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานไปด้วยเป็นอย่างดี สำหรับวิธีชงเม็ดแมงลักก็คือใช้เม็ดแมงลักประมาณ 2 ช้อนชานำมาแช่น้ำ 1 แก้วใหญ่ทิ้งไว้จนพองตัวเต็ม นำมาผสมกับน้ำร้อน 1 แก้วแล้วนำมารับประทาน (หรือจะผสมกับน้ำผึ้ง น้ำสมุนไพร หรือนมก็ได้)
- เมื่อรับประทานเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจได้อีกด้วย
- เม็ดแมงลักเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะช่วยทำให้การดูดซึมของน้ำตาลลดลง เนื่องจากเม็ดแมงลักทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ช้าลงอยู่แล้ว
- เม็ดแมงลักเป็นอาหารที่รับประทานง่าย กลืนง่าย ลื่นคอ และเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีกากใยอย่างพวก ผักผลไม้
- ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ ขับถ่ายสะดวก
- เม็ดแมงลัก สรรพคุณล้างลำไส้ ช่วยดีท็อกซ์แก้ปัญหาอุจจาระตกค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย มีพยาธิ ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ระบบดูดซึมเสีย และขับถ่ายไม่เป็นเวลา (ช่วงเช้า 05.00 - 07.00 น.)
- ใบแมงลักช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้
- ใบแมงลักมีสรรพคุณในการช่วยขับเหงื่อ
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ใบสดมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วรับประทาน
- ใบแมงลักมีฤทธิ์ช่วยขับลมในลำไส้
- ใช้เป็นยาระบาย กระตุ้นการขับถ่ายให้ดีขึ้น โดยการรับประทานเม็ดแมงลักก่อนเข้านอน
- ใบแมงลักต้มกับน้ำดื่มเป็นประจำช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้หรือทางเดินอาหารได้
- ใบแมงลักมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
- รักษาโรคกลากเกลื้อนด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 1 ครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์อาการจะดีขึ้น
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.rspg.or.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย ( medthai )
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์เมดไทย ( medthai )
เข้าชม : 1102
|