๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๓๔๗ ณ พระราชวังเดิม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดา เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร โดยพระนามก่อนการมีพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระนามว่า “ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่”
เมื่อรัชกาลที่ ๒ เสด็จขึ้นครองสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว พระองค์ได้เสด็จเข้ามาอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่ง ๒๓๕๕ พระองค์มีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา จึงได้จัดการพระราชพิธีลงสรงเพื่อเฉลิมพระนามเจ้าฟ้าอย่างเป็นทางการ พระราชพิธีในครั้งนี้รัชกาลที่ ๒ มีพระราชดำริว่า พระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าได้ทำเป็นอย่างมีแบบแผนอยู่แล้ว แต่การพระราชพิธีลงสรงตั้งพระนามเจ้าฟ้าครั้งกรุงศรีอยุธยายังหาได้ทำเป็นแบบอย่างลงไม่ รวมทั้ง ผู้ใหญ่ที่เคยเห็นพระราชพิธีดังกล่าวก็แก่ชราเกือบจะหมดตัวแล้ว เกรงว่าแบบแผนพระราชพิธีจะสูญไป พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิทักษมนตรีและเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เป็นผู้อำนวยการพระราชพิธีลงสรงในครั้งนี้เพื่อเป็นแบบแผนของพระราชพิธีลงสรงสำหรับครั้งต่อไป พระราชพิธีในครั้งนี้จึงนับเป็นพระราชพิธีลงสรงครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ได้รับการเฉลิมพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงษ์ พงษ์อิศรกระษัตริย์ ขัติยราชกุมาร”
ในปี ๒๓๕๙ พระองค์มีพระชนมายุครบ ๑๓ พรรษา รัชกาลที่ ๒ มีพระราชดำรัสจัดให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ตามแบบอย่างพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าที่มีมาแต่รัชสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยได้สร้างเขาไกรลาสจำลองไว้บริเวณหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เมื่อรัชกาลที่ ๓ สวรรคตลง พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระมงกุฎ พระองค์ทรงลาผนวชเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ซึ่งตรงกับวันจักรี และทรงรับการบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาของปีนั้น และทรงได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยโดยย่อว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม และทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลา ๒๑.๐๕ นาฬิกา วันนั้นเป็นวันมหาปวารณา สิริพระชนมพรรษา ๖๔ พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติ ๑๗ ปี ๕ เดือน ๒๗ วัน
การที่ผู้คนสมัยนั้นกลัวกันว่า การที่ไปอาราธนาพระภิกษุที่บวชมานานถึง ๒๗ ปี ไม่เคยจับงานราชการบ้านเมือง เคยแต่เทศน์พระธรรม และไม่มีเสนาพฤฒามาตย์คอยประคับประคอง จะเป็นการคิดถูกหรือไม่ จะทรงบริหารบ้านเมืองเป็นหรือ แต่แล้วก็ไม่มีเหตุอันน่าผิดหวังแต่ประการใดตลอด ๑๗ ปีแห่งรัชสมัยของพระองค์ กลับทรงเป็นผู้นำที่มีพระสติปัญญาปราดเปรื่อง ทรงครองใจเจ้านาย เสนามนตรี และอาณาประชาราษฎร์ได้เป็นอย่างดีตลอดรัชกาล
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมปวงข้าพระพุทธเจ้าอย่างหาที่สุดมิได้
เข้าชม : 543
|