"วันจักรี" 6 เมษายน นอกจากจะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่ง "ราชวงศ์จักรี" แล้ว ยังมี 5 เรื่องน่ารู้อื่นๆ อีกที่คนไทยควรทราบ เข้ามาเช็คลิสต์ที่นี่!
"วันจักรี" ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี โดยถือเป็นวันสำคัญที่ประชาชนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง "ราชวงศ์จักรี" โดยนอกจากเป็นวันขึ้นครองราชย์แล้ว ราชวงศ์จักรียังมี 5 เรื่องน่ารู้อื่นๆ อีกที่คนไทยควรรู้
วันจักรี คือ วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี
- ที่มาของชื่อ และสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์
ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์" ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี คำว่า "จักรี" นี้พ้องเสียงกับคำว่า "จักร" และ "ตรี" ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระแสงจักร และ พระแสงตรี ไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพภาคที่ 3 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติวันจักรีว่า วันจักรี ถูกตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 จากพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป
โดยแต่เดิมไม่ได้มีพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปมาก่อน แต่ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ (ร.1-ร.4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณปีละครั้ง
และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท เป็นต้น
ต่อมาในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 (ร.1-ร.4) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ 6 โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว
การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”
- สถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง
หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัดพิธี ยกเสาหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร
รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ "วัดพระแก้ว" ขึ้น พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก
โดยมีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “…บวรรัตนโกสินทร์…” เป็น “…อมรรัตนโกสินทร์…”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า ในปี 2475 อายุพระนครจะบรรจบครบ 150 ปี สมควรมีการสมโภช และสร้างสิ่งสำคัญ เป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฏแก่อารยชนในนานาประเทศว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพฯเป็นราชธานี แล้วบำรุงรักษาประเทศ ให้เป็นอิสระสืบมา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า ในปี 2475 อายุพระนครจะบรรจบครบ 150 ปี สมควรมีการสมโภช และสร้างสิ่งสำคัญ เป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฏแก่อารยชนในนานาประเทศว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพฯเป็นราชธานี แล้วบำรุงรักษาประเทศ ให้เป็นอิสระสืบมา
อภิรัฐมนตรีและเสนาบดี ซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์มี 2 สิ่งประกอบกัน คือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี
สำหำรับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ ให้ศาสตรจารย์ศิลปพีระศรี ปั้นหุ่นหล่อ ส่วนสะพานทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้อำนวยการสร้าง และพระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า
ที่มา : ศูนย์ประชาสัมพันธ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพภาคที่ 3 , กรุงเทพมหานคร , สำนักงานวัฒนธรรม
cr:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930921