แนวคิดหลัก : การสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา เน้นมาตรการที่เหมาะสมกับช่วงวัยและเป็นระบบต่อเนื่องตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย - อุดมศึกษา ภายใต้กรอบการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา 5 ด้าน
ประกอบด้วย ด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน ด้านการค้นหา ด้านการรักษา ด้านการเฝ้าระวัง และด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาที่เป็นระบบครบวงจร ซึ่งในการดำเนินงานแต่ละด้าน อาจมีจุดเน้นที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับช่วงชั้นวัย/ช่วงชั้นเรียน และบริบทสถานศึกษา
1. ด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน
พัฒนา/ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อปลูกฝัง หล่อหลอมให้เด็กสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยจากยาเสพติด เช่น ทักษะสมอง ทักษะชีวิต ทักษะสังคม ฯลฯ โดยผ่านการอบรมเลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนา การเรียนรู้ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่ปฐมวัย - อุดมศึกษา รวมถึงการสร้างจิตสำนึกที่ดีควบคู่การมีคุณธรรมจริยธรรม ในส่วนของช่วงวัยปฐมวัยและประถมศึกษา ต้องอาศัยกลไกครูเป็นหลักในการถ่ายทอด/สร้างการรับรู้
ที่มีประสิทธิภาพได้ และในส่วนของช่วงวัยมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ต้องอาศัยกลไกเพื่อน
เป็นหลักในการถ่ายทอด/สร้างการรับรู้ที่มีประสิทธิภาพได้
1.1 ระดับปฐมวัย
พัฒนาทักษะสมอง เพื่อวางรากฐานภูมิคุ้มกันระยะยาว ด้วยองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการชีวิต (Brain Executive Functions : EF) ให้เด็กรู้จักยับยั้งชั่งใจ ยั้งคิดไตร่ตรอง ควบคุมอารมณ์ ยืดหยุ่น ปรับตัว ฯลฯ
เมื่อเด็กได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โตขึ้นจะลดโอกาสการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ การทุจริต เป็นต้น โดยดำเนินการผ่านกลไก
ครูอนุบาล/ครูผู้ดูแลเด็กในโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ
1.2 ระดับประถมศึกษา
เสริมสร้างทักษะชีวิต ให้ความรู้เพื่อการป้องกันยาเสพติด ควบคู่การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมโดยดำเนินการผ่านกลไกบุคลากรป้องกัน เช่น ครูผู้สอนวิชาสุขศึกษา ครูตำรวจ D.A.R.E. ครูพระสอนศีลธรรม วิทยากรป้องกันต่าง ๆ ในการสอนสอดแทรกความรู้เพื่อการป้องกันยาเสพติดที่หลากหลายตามบริบท
1.3 ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา
เสริมสร้างทักษะชีวิต ให้ความรู้เพื่อการป้องกันยาเสพติด ควบคู่การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม พร้อมด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้มีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมกลุ่มเพื่อน เครือข่าย/องค์กรเยาวชน กิจกรรม TO BE NUMBER ONE กิจกรรมการเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตน
1.4 ระดับอุดมศึกษา
เสริมสร้างทักษะสังคม การมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสา สร้างพลังการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงพื้นที่
2. ด้านการค้นหา
สำรวจ ค้นหา คัดกรอง โดยใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การสังเกต ซักถาม ฯลฯ และแบ่งกลุ่มเพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เหมาะสม ได้แก่ กลุ่มทั่วไป กลุ่มเสี่ยง กลุ่มใช้ยาเสพติด
3. ด้านการรักษา
ให้โอกาสเมื่อเด็กพลั้งพลาดเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีแนวโน้มเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการปรับความคิด/พฤติกรรม สร้างค่านิยมใหม่ ดูแลช่วยเหลือ ติดตามอย่างใกล้ชิด ระหว่าง ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ทั้งนี้ สถานศึกษาจะต้องเปิดให้โอกาสให้เด็กได้เรียนต่อตามปกติ
- กลุ่มเสี่ยง : ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง การให้คำปรึกษา ติดตาม เยี่ยมบ้าน ฯลฯ
- กลุ่มใช้ยาเสพติด : กรณีค้นพบในสถานศึกษา โดยการทำจิตสังคมบำบัดในสถานศึกษา ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง ครู ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
4. ด้านการเฝ้าระวัง
สอดส่อง เฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตา ร่วมมือกันระหว่าง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกิจกรรมที่เข้ามาหนุนเสริม เช่น ลูกเสือต้านภัยยาเสพติด /1 ตำรวจ 1 โรงเรียน /การจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษา ฯลฯ
5. ด้านการบริหารจัดการ
การพัฒนาบุคลากร /การขับเคลื่อนกลไกคณะกรรมการ คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง /การจัดทำแผนงาน งบประมาณ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา
นอกจากนี้ สถานศึกษาต้องส่งเสริม สนับสนุน การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วงปิดภาคเรียน เช่น การจัดพื้นที่แหล่งเรียนรู้ การจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมเสริมทักษะต่าง ๆ กิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน หรือกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาในมิติต่าง ๆ ฯลฯ โดยอาจเป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาดำเนินการเอง หรือเป็นกิจกรรมที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการจัดสนับสนุนให้กับนักเรียนในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดโอกาส ที่เด็กและเยาวชนจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อบายมุข หรือแหล่งมั่วสุมต่าง ๆ อีกทั้งในช่วงปิดภาคเรียน
ซึ่งนักเรียนจะมีเวลาว่างจากการเรียนการสอนปกติ ในการนี้ เพื่อเป็นการสอดส่องเฝ้าระวังนักเรียนร่วมกัน สถานศึกษาต้องขอความร่วมมือไปยังผู้ปกครองในการช่วยกันสอดส่อง ดูแล เฝ้าระวัง บุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยอาจสร้างช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างครู และผู้ปกครอง ในช่วงปิดภาคเรียนร่วมด้วย ทั้งนี้ หากพบเบาะแสยาเสพติด ให้แจ้งไปยังหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1386 และหากต้องการความช่วยเหลือด้านบำบัดรักษายาเสพติด ให้ประสานไปยังหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง
การป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษาจะสำเร็จได้ต้องร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน โดยต้องมีกระบวนการดูแล เชื่อมโยง ส่งต่อ กำกับ ติดตาม ตั้งแต่เด็กอยู่ในรั้วสถานศึกษา (ในบทบาทเพื่อนช่วยเพื่อน/ครูดูแลลูกศิษย์) และเมื่อเด็กกลับบ้านไปสู่ครอบครัวหรือชุมชน (ในบทบาทพ่อแม่ดูแลลูก/คนในชุมชนดูแลบุตรหลาน) รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีสถาบันพื้นฐานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน/ครูผู้ดูแลเด็ก กลุ่มเพื่อน เครือข่าย/องค์กรเยาวชน บ้าน ผู้ปกครอง/ครอบครัว วัด/มัสยิด/โบสถ์ พระสงฆ์/ผู้นำศาสนา หมู่บ้าน/ชุมชน ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ตำรวจ/ทหาร/ฝ่ายปกครอง โรงพยาบาล/รพ.สต. จนท.สาธารณสุข เป็นต้น
เข้าชม : 898
|