กรดไหลย้อนเกิดจากอะไร?
1. ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร
ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำ หรือมีการเปิดบ่อยกว่าคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้ มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการหอบหืด หรือยาที่มีฤทธิ์แรงในการกัดกระเพาะ
2. ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร
ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปนั้น เคลื่อนตัวได้ช้าหรือมีอาหารไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
3. ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร
ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรด จากกระเพาะอาหารขึ้นมาสู่หลอดอาหารมากขึ้น และอาหารประเภทที่มีไขมันสูงและช็อกโกแลต จะทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง
4. ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างเช่น การล้มตัวลงนอนทันทีเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ รับประทานอาหารมากจนเกินไปในหนึ่งมื้อ สูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลมและแอลกอฮอล์ รวมไปถึงความเครียดก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารได้
5. คนที่เป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
ทำให้เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร และเป็นสาเหตุทำให้เกิดกรดไหลย้อน
6. หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
จะมีฮอร์โมนเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลง รวมถึงมดลูกที่ขยายตัวจะไปเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร
อาการกรดไหลย้อนเป็นยังไง?
- มีอาการแสบร้อนกลางทรวงอก ซึ่งจะมีอาการมากหลังรับประทานมื้อหนัก
- มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขม ๆ ไหลย้อนขึ้นมาในปาก
- ท้องอืด แน่นท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร
- แน่นหน้าอก จุกเสียด เหมือนมีก้อนอะไรติดอยู่ในลำคอ
- หอบ หืด ไอแห้ง เสียงแหบและเจ็บคอเรื้อรัง
วิธีหลีกเลี่ยงโรคกรดไหลย้อน
- รับประทานอาหารอย่างพอดีและเคี้ยวให้ละเอียด
- หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น อาหารที่มีรสจัด อาหารที่มีไขมัน ชา กาแฟ ช็อกโกแลต
- งดการดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำดื่มที่มีแก๊ส เช่น โซดา งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งการสร้างกรดก่อนอาหาร 30 – 60 นาที อย่างน้อย 3 เดือน
- หลังการรับประทานอาหารควรนั่งพักให้อาหารย่อยอย่างน้อย 30 นาที และให้นอนโดยยกศีรษะให้สูงขึ้นกว่าเท้า 6 – 8 นิ้ว
- งดการออกกำลังกายหนัก ๆ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ อย่างน้อย 3 ชั่วโมง หรือเปลี่ยนจากการออกกำลังกายหนักมาเป็นการเดินเพื่อช่วยย่อยอาหาร
- หากเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะโรคอ้วน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามคำแนะนำของแพทย์
- งดสูบบุหรี่
- หากรับประทานยาเป็นประจำ ให้ลองดูคำแนะนำของยาชนิดนั้น ๆ หากมีผลต่อกระเพาะอาหาร ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของยาชนิดนั้นอย่างเคร่งครัด เช่น รับประทานยาหลังอาหารทันที
- รักษาด้วยการผ่าตัด จะเป็นการผ่าตัดนำส่วนบนของกระเพาะอาหารมาเย็บหุ้มรอบส่วนล่างของหลอดอาหารและกล้ามเนื้อหูรูด โดยวิธีผ่าตัดนี้จะเป็นวิธีสุดท้ายหลังจากที่รับประทานยาและปรับพฤติกรรม แล้วแต่ยังไม่ได้ผล
กรดไหลย้อนเสี่ยงมะเร็ง
โรคกรดไหลย้อนอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เนื่องจากฤทธิ์ของกรดจะทำให้หลอดอาหารเกิดการระคายเคืองจนเกิดการอักเสบ และเป็นแผล หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งที่ระบบทางเดินอาหารและมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ได้
เข้าชม : 877
|