[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
การศึกษาขั้นพื้นฐาน

การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

แนวคิด
 
            กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรที่มุ่งจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองอุดมการณ์การจัดการศึกษาตลอดชีวิต การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตามปรัชญา "คิดเป็น" เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสังคม มีการบูรณาการอย่างสมดุลระหว่างปัญญาธรรม ศีลธรรม และวัฒนธรรม มุ่งสร้างพื้นฐานการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และพัฒนาความสามารถเพื่อการทำงานที่มีคุณภาพ โดยให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียนและสามารถตรวจสอบได้ว่า การศึกษานอกระบบเป็นกระบวนการของการพัฒนาชีวิตและสังคมสามารถพึ่งพาตนเองได้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นหลักสูตรที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ประสบการณ์จากการทำงานและการประกอบอาชีพ โดยการกำหนดสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มเป้าหมายด้านจิตใจให้มีคุณธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สามารถจัดการกับองค์ความรู้ ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สร้างภูมิคุ้มกันตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งคำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้ที่อยู่นอกระบบ และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร

หลักการ

         
   หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดหลักการไว้ดังนี้ 
           1. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นด้านสาระการเรียนรู้ เวลาเรียน และการจัดการเรียนรู้ โดยเน้นการบูรณาการเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถึชีวิต ความแตกต่างของบุคคล ชุมชน และสังคม
           2. ส่งเสริมให้มีการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
           3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยตระหนักว่าผู้เรียนมีความสำคัญสามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
           4. ส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

จุดหมาย

           หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีสติปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการประกอบอาชีพและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการ จึงกำหนดจุดหมายดังต่อไปนี้
           1. มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
           2. มีความรู้พื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
           3. มีความสามารถในการประกอบสัมมาอาชีพให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และตามทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
           4. มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี และสามารถจัดการกับชีวิต ชุมชน สังคมได้อย่างมีความสุขตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
           5. มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย โดยเฉพาะภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ความเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา ยึดมั่นในวิถีชีวิต และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
           6. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
           7. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และบูรณาการความรู้มาใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ระดับการศึกษา

          
  ระดับการศึกษาแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ
            - ระดับประถมศึกษา
            - ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
            - ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
            โดยแต่ละระดับใช้เวลาเรียน 4 ภาคเรียน ยกเว้นกรณีที่มีการเทียบโอน แต่ทั้งนี้ต้องลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน

สาระการเรียนรู้
            การเรียนรู้ประกอบด้วย 5 สาระ ดังนี้
            1. สาระทักษะการเรียนรู้ เป็นสาระเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้แหล่งเรียนรู้ การจัดการความรู้ การคิดเป็น และการวิจัยอย่างง่าย
            2. สาระความรู้พื้นฐาน เป็นสาระเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            3. สาระการประกอบอาชีพ เป็นสาระเกี่ยวกับการมองเห็นช่องทางและการตัดสินใจประกอบอาชีพ ทักษะในอาชีพ การจัดการอาชีพอย่างมีคุณธรรม และการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคง
            4. สาระทักษะการดำเนินชีวิต เป็นสาระเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สุขศึกษา - พลศึกษา และศิลปศึกษา
            5. สาระการพัฒนาสังคม เป็นสาระเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี หน้าที่พลเมือง และการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

            กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดขึ้นตามเงื่อนไขการจบหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักรช 2551 โดยให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และกำหนดให้ผู้เรียนทุกระดับต้องเรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรม จำนวนไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง

โครงสร้างหลักสูตร

            โครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551



            จากโครงสร้างหลักสูตรดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในรายวิชาบังคับ ตามที่กำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตร สำหรับรายวิชาเลือกนักศึกษาสามารถเลือกตามรายวิชาที่สำนักงาน กศน. จัดทำขึ้น หรือพัฒนาขึ้นได้ตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน

การลงทะเบียนเรียนรายวิชา

            การลงทะเบียนเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้ลงทะเบียนเรียนเป็นรายวิชาและตามจำนวนหน่วยกิต ในแต่ลภาคเรียน ดังนี้
            1. ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต
            2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 17 หน่วยกิต
            3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 23 หน่วยกิต

            กรณีนักศึกษาจะต้องจบหลักสูตร แต่มีจำนวนหน่วยกิต ที่ต้องลงทะเบียนเรียนเกินกว่าจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดให้ลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียน เนื่องจากมีการเทียบโอนผลการเรียนและหรือนักศึกษาที่มีการสอบซ่อม ให้สถานศึกษาจัดให้มีการลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติมในภาคเรียนสุดท้ายได้ไม่เกิน 3 หน่วยกิต จากที่กำหนดในแต่ละระดับการศึกษา

วิธีจัดการเรียนรู้

            วิธีการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีวิธีเดียว คือ วิธีเรียน กศน. ที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งในแต่ละรายวิชาผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบก็ได้
            ทั้งนี้ สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง โดยให้มาเรียนกับครูหรือวิทยากรสอนเสริมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องจัดทำแผนการเรียนรู้เป็นรายสัปดาห์ให้ชัดเจนเกี่ยวกับเวลาเรียน การสอนเสริม และการเข้าค่าย ฯลฯ

สื่อการเรียนรู้

            ในการจัดการเรียนรู้ เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออีเล็กโทรนิกส์ สื่อบุคคล ภูมิปัญญา และแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นชุมชน และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ผู้เรียน ครู สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง หรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ใกล้ตัว และข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณค่า น่าสนใจ ชวนคิด ชวนติดตาม เข้าใจง่าย เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง และต่อเนื่องตลอดเวลา

การเทียบโอนผลการเรียน

          สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเทียบโอนผลการเรียน หรือเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยสถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติการเทียบโอนให้สอดคล้องกับแนวทางการเทียบโอนที่สำนักงาน กศน. กำหนด โดยกำหนดวิธีการเทียบโอน ดังนี้

          1. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษา ที่จัดการศึกษาเป็น ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย หรือเทียบเท่า
          2. การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษานอกระบบประเภทการศึกษาต่อเนื่อง
          3. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ
          4. การเทียบโอนผลการเรียนจากความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
          5. การเทียบโอนผลการเรียนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์

การวัดผลประเมินผลการเรียน

          การวัดผลและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 2 ลักษณะ ได้แก่
          1. การวัดและประเมินผลรายวิชา สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลรายวิชา ดังนี้
              1.1 การวัดและประเมินผลก่อนเรียน เป็นการตรวจสอบความรู้ ทักษะและความพร้อมต่าง ๆ ของผู้เรียนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสถาพความพร้อมและความรู้พื้นฐานของผู้เรียน
              1.2 การวัดและประเมินผลระหว่างภาคเรียน สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลระหว่างภาคเรียนเพื่อทราบความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรมการเรียนการร่วมกิจกรรมและผลงาน อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รายละเอียดของคะแนนระหว่างภาค ประกอบด้วย
                    1.) การให้ความร่วมมือกับสถานศึกษา หมายถึง การที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานศึกษา เช่น การร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การเข้าร่วมในวันสำคัญ ร่วมกิจกรรมของสถานศึกษา เป็นต้น
                    2.) ผลงานที่กำหนดเป็นร่องรอยในแฟ้มสะสมงาน
                    3.) การแสดงออกและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ หมายถึง การร่วมอภิปรายการช่วยงานกลุ่ม การตอบคำถาม
              1.3 การวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนรู้โดยรวมของผู้เรียนในแต่ละรายวิชา โดยใช้เครื่องมือ เช่น แบบทดสอบปรนัย แบบทดสอบอัตนัย แบบประเมินการปฏิบัติ เป็นต้น
                    การวัดและประเมินผลปลายภาคเรียน นั้น ผู้เรียนที่จะผ่านการประเมินรายวิชาใด จะต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนและมีคะแนนปลายภาคเรียนรวมกับคะแนนระหว่างภาคเรียนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่สำนักงาน กศน. กำหนด
              1.4 การตัดสินผลการเรียนรายวิชา
                    การตัดสินผลการเรียนรายวิชาบังคับทุกระดับการศึกษา ต้องได้คะแนนสอบปลายภาคเรียนอย่างน้อย ร้อยละ 30 ของคะแนนสอบปลายภาค (12 คะแนน จาก 40 คะแนน) และเมื่อนำคะแนนระหว่างภาคเรียนมารวมกับคะแนนปลายภาคเรียน และจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงจะถือว่าผ่านการเรียนในรายวิชานั้น
                    ทั้้งนี้ ผู้เรียนต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนด้วย แล้วนำคะแนนไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้ค่าระดับผลการเรียนเป็น 8 ระดับ ดังนี้
              ได้คะแนนร้อยละ 80 - 100     ให้ระดับ  4    หมายถึง  ดีเยี่ยม
              ได้คะแนนร้อยละ 75 - 79       ให้ระดับ  3.5 หมายถึง  ดีมาก
              ได้คะแนนร้อยละ 70 - 74       ให้ระดับ  3    หมายถึง  ดี
              ได้คะแนนร้อยละ 65 - 69       ให้ระดับ  2.5 หมายถึง  ค่อนข้างดี
              ได้คะแนนร้อยละ 60 - 64       ให้ระดับ  2    หมายถึง  ปานกลาง
              ได้คะแนนร้อยละ 55 - 59       ให้ระดับ  1.5 หมายถึง  พอใช้
              ได้คะแนนร้อยละ 50 - 54       ให้ระดับ  1    หมายถึง  ผ่านเกณฑ์ขั่นต่ำที่กำหนด
              ได้คะแนนร้อยละ 0 - 49         ให้ระดับ 0     หมายถึง  ต่ำกว่าเกณฑ์ต่ำที่กำหนด

                    กรณีผู้เรียนมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ให้ดำเนินการพัฒนาผู้เรียนในรายวิชาที่ได้ค่าระดับผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การประเมินการปฏิบัติจริง ทดสอบย่อย ประเมินจากกิจกรรม โครงงาน หรือแบบฝึกหัด เป็นต้น โดยเลือกให้สอดคล้องและเหมาะสมกับธรรมชาติของรายวิชา ถ้าผู้เรียนสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแล้ว ให้ระดับผลการเรียนใหม่ โดยให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน 1 สำหรับผู้เรียนที่ปรับปรุงพัฒนาแล้ว ไม่ผ่านเกณฑ์ขั่นต่ำ ให้ลงทะเบียนซ้ำในรายวิชาเดิมหรือเปลี่ยนรายวิชา ทั้งนี้ัให้เป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนปิดการลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนถัดไป
               1.5 การมีสิทธิ์สอบปลายภาคเรียน
                    กำหนดระยะเวลาเรียนมาเป็นเกณฑ์ในการมีสิทธิ์เข้าสอบปลายภาคเรียน โดยกำหนดให้ผู้เรียนโดยวิธีเรียนรู้แบบ กศน. ต้องมีเวลาในการพบกลุ่มหรือพบครูไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของเวลาตามแผนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ตกลงร่วมกับครู จึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบ ถ้าผู้เรียนมีระยะเวลาในการพบกลุ่มหรือพบครูไม่ถึงร้อยละ 75 แต่ถึงร้อยละ 50 ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะพิจารณาให้เข้าสอบปลายภาคเรียน ถ้าไม่ให้เข้าสอบปลายภาคเรียน ผู้เรียนผู้นั้นได้ระดับผลการเรียนเป็น "0" (การกำหนดระยะเวลาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ยกเว้นนักศึกษาของสถาบันการศึกษาทางไกล)
               1.6 การขอเลื่อนสอบปลายภาค
                    ในกรณีที่ผู้เรียนมีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นฉุกเฉินไม่สามารถเข้าสอบปลายภาคเรียนตามวัน เวลา ตามที่กำหนด ผู้เรียนสามารถยื่นคำร้องขอเลื่อนสอบต่อสถานศึกษา โดยชี้แจงเหตุผลความจ่ำเป็นพร้อมทั้งแสดงหลักฐาน ทั้งนี้เป็นสถานศึกษาจะต้องขอเลื่อนสอบต่อผู้มีอำนาจต่อไป
               1.7 การประเมินสอบซ่อม
                     ผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับการประเมินซ๋อม คือ ผู้เรียนที่เข้าสอบปลายภาคเรียน แต่ผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลรายวิชา โดยให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินซ่อมตามวัน เวลา สถานที่ และวิธีที่สถานศึกษาหรือต้นสังกัดกำหนด และให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน 1
        2. การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
               การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้เรียนทุกคนจะต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด โดยผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง จึงจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา
        3. การประเมินคุณธรรม
                เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้เรียนทุกคนต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด จึงจะได้รับการพิจารณาให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา โดยคณะกรรมการวัดและประเมินผลของสถานศึกษาพิจารณาคุณธรรมเบื้องต้น ที่สำนักงาน กศน. กำหนดทั้งนี้สถานศึกษาสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ โดยเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการประเมินคุณธรรม
                กรอบของคุณธรรม เบื้องต้นที่สำนักงาน กศน. กำหนดเพื่อใช้เป็นหลักในการประเมิน มีจำนวน 11 คุณธรรม ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้น
พื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และตามมาตรฐานของ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
                กลุ่มที่ 1 คุณธรรมเพื่อการพัฒนาตน ประกอบด้วย
                             1. สะอาด
                             2. สุภาพ
                             3. กตัญญูกตเวที 
                 กลุ่มที่ 2 คุณธรรมเพื่อการพัฒนาการทำงาน ประกอบด้วย
                             4. ขยัน
                             5. ประหยัด
                             6. ซื่อสัตย์
                 กลุ่มที่ 3 คุณธรรมเพื่อการพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคม ประกอบด้วย
                             7. สามัคคี
                             8. มีน้ำใจ
                             9. มีวินัย
                             10.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และรักความเป็นไทย
                             11.ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
                 บทบาทของผู้เรียนในการประเมินคุณธรรม คือ
                             1. ศึกษาพฤติกรรมบ่งชี้ของคุณธรรมแต่ละด้าน
                             2. ฝึกปฏิบัติพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรมตามพฤติกรรมบ่งชี้
                             3. รวบรวมหลักฐานเพื่อแสดงถึงการประพฤติปฏิบัติตามคุณธรรมด้านต่าง ๆ
                             4. ประเมินตนเองตามแบบประเมินคุณธรรม
                             5. ส่งแบบประเมินตนเองพร้อมหลักฐานให้ครู

ระยะเวลาการประเมิน

           1. ดำเนินการประเมินคุณธรรมผู้เรียนระหว่างภาคเรียนและสรุปผลการประเมินเมื่อสิ้นสุดภาคเรียนเพื่อนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาคุณธรรมผู้เรียนใน
ภาคเรียนถัดไป
           2. ดำเนินการประเมินคุณธรรมต่อเนื่องทุกภาคเรียนทุกภาคเรียนจนจบการศึกษาแต่ละระดับ ซึ่งสถานศึกษาจะเห็นพัฒนาการคุณธรรมของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนจนจบการศึกษา
           3. สถานศึกษาพึงแจ้งผลการประเมินในระหว่างภาคเรียนให้ผู้เรียนทราบถึงระดับผลการประเมินที่ตนเองได้รับ และสถานศึกษาต้องเสนอแนะ หรือจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้บรรลุตามเกณฑ์ที่กำหนด

เกณฑ์การประเมิน
  
           การประเมินคุณธรรม กำหนดเกณฑ์การประเมินเป็น 4 ระดับคือ
           ดีมาก  หมายถึง  ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้ ร้อยละ 90 ขึ้นไปของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
           ดี        หมายถึง ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้ ร้อยละ 70 - 89 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
           พอใช้  หมายถึง ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้ ร้อยละ 50 - 69 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
           ปรับปรุง หมายถึง ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้ ร้อยละ 0 - 49 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม

การสรุปผลการประเมิน

          การสรุปผลการประเมินคุณธรรม ใช้ผลการประเมินในภาคเรียนสุดท้ายที่ผู้เรียนจบการศึกษา เพื่อนำผลการประเมินไปประกอบการศึกษาต่อหรือเพื่อประโยชน์อื่น
ในกรณีที่ผู้เรียนย้ายสถานศึกษา ให้สถานศึกษาจัดทำรายละเอียดผลการประเมินในแต่ละภาคเรียนแนบมาพร้อมกับระเบียนแสดงผลการเรียน

แบบประเมิน

          แบบประเมินคุณธรรมผู้เรียนมี 2 แบบ

          แบบ 1 แบบประเมินคุณธรรมตามพฤติกรรมบ่งชี้รายภาคเรียน ใช้สำหรับบันทึกผลการประเมินผู้เรียนเป็นรายบุคคลในแต่ละภาคเรียน
          แบบ 2 แบบรายงานผลการประเมินคุณธรรม ใช้เป็นหลักฐานมอบให้ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาเพื่อผู้เรียนนำไปใช้ประกอบการศึกษาหรือประโยชน์อื่น

การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

           สถานศึกษาจะต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนที่เรียนในภาคเรียนสุดท้ายของทุกระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ในสาระการเรียนรู้ตามที่สำนักงาน กศน. กำหนดการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติไม่มีผลต่อการได้หรือตกของผู้เรียน แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนาผู้เรียน และการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา รวมทั้งเป็นข้อมูลในการส่งเสริมในด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ ให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน

เกณฑ์การจบหลักสูตร

          ผู้เรียนทั้งระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีเกณฑ์การจบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา ดังนี้
          1. ผ่านเกณฑ์การประเมินการเรียนรู้รายวิชาในแต่ละระดับการศึกษาตามโครงสร้างหลักสูตร
              1.1 ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบ่งเป็นรายวิชาบังคับ 36 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต
              1.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต แบ่งเป็นรายวิชาบังคับ 40 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 16 หน่วยกิต
              1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต แบ่งเป็นรายวิชาบังคับ 44 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิต
          2. ผ่านเกณฑ์การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง
          3. ผ่านการประเมินคุณธรรมในระดับพอใช้ขึ้นไป
          4. เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

คุณสมบัติของผู้สมัคร

         1. เป็นผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548
         2. เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่้ในระบบโรงเรียน
         3. มีพื้นความรู้ในแต่ละระดับ ดังนี้

            ก. ระดับประถมศึกษา ไม่จำกัดพื้นความรู้

                สำหรับพระภิกษุ สามเณรจะต้องสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรีมาก่อน

            ข. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สอบได้วุฒิหรือระดับชั้นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ มัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3 เดิม) หรือ ประถมศึกษาปีที่ 7 (ป.7) หรือ ประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6)  หรือ การศึกษาผู้ใหญ่ระดับที่ 3 หรือ การศึกษาผุ้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับที่ 3 หรือ หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับประถมศึกษา หรือ ระดับประถมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 หรือ นาฏศิลป์ชั้นต้นปีที่ 3 หรือ วุฒิอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่าประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 หรือ นักธรรมชั้นเอกหรือธรรมศึกษาเอก หรือใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่่ 3 เพื่อสิทธบางอย่าง หรือใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือเป็นผู้ที่เคยศึกษาหลักสูตรต่างประเทศระดับชั้้น (เกรด) การศึกษาปีที่ 7 หรือสอบได้ระดับชั้น (เกรด) การศึกษาอย่างน้อยปีที่ 7 ผู้สอบตก ป.7 ปีการศึกษา 2550 ถือว่าได้ ป.6 สำหรับพระภิกษุสามเณรจะต้องมีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นและต้องสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโทมาก่อน

             ค. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สอบได้วุฒิหรือระดับชั้นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้สอบได้มัธยมปีที่ 6 (ม.6 เดิม) หรือประโยคมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ.3) หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) หรือการศึกษาผู้ใหญ่ระดับที่ 4 หรือการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับที่ 4 หรือหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้นตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 หรือ เปรียญธรรม 3 ประโยค หรือ วุฒิอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 หรือใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือเป็นผู้ที่เคยศึกษาหลักสูตรต่างประเทศระดับชั้น (เกรด) การศึกษาปีที่ 10 หรือสอบได้ระดับชั้น (เกรด) การศึกษาอย่างน้อยปีที่ 10 หรือผู้สอบตก ม.ศ.3 ปีการศึกษา 2533 ถือว่าได้ ม.3 สำหรับพระภิกษุสามเณร จะสมัครเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม

หลักฐานการสมัคร

            
สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบหลักฐานการสมัครเข้าเป็นนักศึกษาให้ถูกต้องครบถ้วน ดังนี้

            1. ใบสมัครเป็นนักศึกษา
            2. รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 4 รูป หน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก สวมเสื้อสีขาวมีปกหรือชุดสุภาพ (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่ใช้รูปถ่ายประเภทโพลาลอยด์) เพื่อใช้ติดใบสมัคร 1 รูป ติดบัตรประจำตัว 1 รูป ติดสมุดประจำตัวนักศึกษา 1 รูป และสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นอีก 1 รูป
            3. สำเนาทะเบียนบ้านตนเองที่มีชื่อบิดา มารดา พร้อมฉบับจริงไปแสดง
            4. สำเนาหนังสือสำคัญแสดงวุฒิการศึกษา จำนวน 2 ฉบับ เช่น ประกาศนียบัตร ระเบียนแสดงผลการเรียน พร้อมฉบับจริงไปแสดง
            5. สำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมฉบับจริงไปแสดง เช่น ใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ใบทะเบียนสมรส ใบหย่า ฯลฯ

สถานที่รับสมัคร

            1. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ/เขต
            2. ศูนย์การเรียนชุมชน/กศน.ตำบล
            3. สถานที่ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเขตกำหนด
            4. สถานที่ของภาคีเครือข่ายลักษณะสถานศึกาาในกำกับที่สำนักงาน กศน.กำหนด

การลงทะเบียนเรียน

        
1. จำนวนรายวิชาที่ลงทะเบียน ในแต่ละระดับ
                1.1 ระดับประถมศึกษา ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต รวมทั้งการลงทะเบียนรายวิชาที่ได้ผลการเรียนเป็น "0" แต่ไม่นับรวมรายวิชาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียน
                1.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 17 หน่วยกิต รวมทั้งการลงทะเบียนรายวิชาที่ได้ผลการเรียนเป็น "0" แต่ไม่นับรวมรายวิชาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียน
                1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 23 หน่วยกิต รวมทั้งการลงทะเบียนรายวิชาที่ได้ผลการเรียนเป็น "0" แต่ไม่นับรวมรายวิชาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียน
            สำหรับผู้ที่จบหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนหรือหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่าหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ประสงค์จะลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่ปรากฏในหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่ต้องการได้ภาคเรียนรายวิชาที่ต้องการได้ภาคเรียนละไม่เกิน 23 หน่วยกิต
            2. การลงทะเบียนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนได้ลงทะเบียนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวนไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง โดยเขียนเป็นโครงการ/กิจกรรมเสนอสถานศึกษาให้ความเห็นชอบ และอนุมัติโครงการเพื่อดำเนินการต่อไป รายละเอียดสามารถศึกษาได้จากแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)
            3. การลงทะเบียนเทียบโอนผลการเรียน ผู้เรียนสามารถนำความรู้ทักษะและประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาการเรียนรู้ และ/หรือจากการทำงาน จากประสบการณ์ชีวิต หรือจากการประกอบอาชีพมาเทียบโอน เป็นผลการเรียนตามหลักสูตรในระดับที่กำลังศึกษาอยู่ได้ โดยจะต้องลงทะเบียนเทียบโอนผลการเรียนตามระยะเวลาที่สถานศึกษากำหนด โดยมีแนวทางการเทียบโอนผลการเรียน ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกำหนด รายละเอียดตามแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกำหนด
            4. การลงทะเบียนรักษาสถานภาพ ในกรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนใดจะต้องลงทะเบียนรักษาสถานภาพการเป็นนักศึกษาทุกภาคเรียน หากไม่สามารถลงทะเบียนรักษาสถานภาพการเป็นนักศึกษาในภาคเรียนใดได้จะต้องลงทะเบียนสรักษาสถานภาพการเป็นนักศึกษษย้อยหลังทุกภาคเรียนที่ไม่ได้ลงทะเบียนและให้เป็นไปตามวัน เวลา วิธีการที่สถานศึกษากำหนด ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 6 ภาคเรียนติดต่อกันหากพ้นจากระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้เรียนใหม่
            รายวิชาใดที่ผู้เรียนผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่หลักสูตรกำหนด สามารถเก็บผลการเรียนสะสมได้ 5 ปี นับจากวันอนุมัติผลการเรียน

การปฏิบัติตนของนักศึกษา ในระหว่างเป็นนักศึกษา กศน.

           
ผู้เรียนในสถานศึกษา สังกัดของสำนักงาน กศน. จังหวัด/กรุงเทพ ฯ และสถานศึกษาในสังกัดจะต้องปฏิบัติตนตามระเบียบของสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด ดังนี้
           1. การแต่งกายสุภาพหรือแต่กายตามระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษา
           2. การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของสังคม
           3. ให้ความเคารพเชื่อฟังครูผู้สอน และให้ความเคารพผู้บริหารสถานศึกษา
           4. รักษาไว้ซึ่งความสามัคคีระหว่างกันในหมู่คณะ
           5. ไม่เล่นการพนันหรือมีอุปกรณ์การพนันไว้ในครอบครอง
           6. ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และสิ่งเสพติดอื่นใดในสถานศึกษา และสถานที่พบกลุ่ม
           7. ไม่ประพฤติตนขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือกระบบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ
           8. ไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่สถานศึกษาที่ตนสังกัดอยู่
           9. ไม่ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น
           10. ไม่ทำให้ทรัพย์สินของสถานศึกษาชำรุดเสียหาย

การย้ายสถานศึกษาของนักศึกษา

       
    การย้ายสถานศึกษาสามารถทำได้ใน 2 ลักษณะ คือ
           1. การย้ายสถานศึกษาโดยการลาออก มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
               1.1 ให้ผู้เรียนยื่นคำร้อยต่อสถานศึกษาด้วยตนเองและเตรียมหลักฐานเอกสารที่ต้องใช้ ดังนี้
                     1.1.1 ใบคำร้องขอลาออกจากสถานศึกษา
                     1.1.2 รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 4 x 5 เซนติเมตร จำนวน 2 รูปหน้าตรง
               1.2 สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบหลักฐานผลการเรียนให้ถูกต้อง และออกหลักฐานแสดงผลการเรียนให้แก่ผู้เรียนอย่างช้าไม่เกิน 5 วันทำการ เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย
               1.3 กรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถยื่นคำร้องได้ด้วยตนเองให้ทำหนังสือมอบอำนาจ ให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้
               1.4 ให้สถานศึกษาระบุเหตุผลที่ออกในหลักฐานการศึกษาว่า "ลาออกเพื่อไปศึกษาต่อที่อื่น"
           2. การย้ายสถานศึกษาระหว่างภาคเรียน สามารถดำเนินการได้ เมื่อผู้เรียนมีความจำเป็นต้องย้ายสถานที่เรียนจากที่เดิมในระหว่างภาคเรียนและยังคงสถานภาพการเป็นผู้เรียนของสถานศึกษาเดิม โดยมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
               2.1 ให้ผู้เรียนยื่นคำร้องต่อสถานศึกษาเดิม เพื่อขอย้ายสถานที่เรียน
               2.2 สถานศึกษาเดิมพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ย้ายได้ โดยจะต้องทำหนังสือส่งตัวผู้เรียนพร้อมเอกสารสรุปการประเมินผลระหว่างภาคและกิจกรรม กพช. รวมทั้งผลการเรียนอื่น ๆ ในภาคเรียนนั้นไปยังสถานศึกษาแห่งใหม่ตามแบบที่สถานศึกษากำหนด ทั้งนี้อย่างช้าไม่เกิน 7 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ผู้เรียนยื่นคำร้อง
               2.3 สถานศึกษาแห่งใหม่รับตัวผู้เรียนไว้และแจ้งผลการรับผู้เรียนให้สถานศึกษาเดิมทราบ
               2.4 สถานศึกษาแห่งใหม่จัดให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่องจากสถานศึกษาเดิม
               2.5 ส่งผลการเรียนกลับมาที่สถานศึกษาเดิมเมื่อสิ้นสุดภาคเรียนนั้น
               2.6 สถานศึกษาเดิมได้รับผลการเรียนแล้วบันทึกผลการเรียนเก็บไว้เป็นหลักฐาน

              
อนึ่ง ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น ย้ายไปปฏิบัติงาน กลับภูมิลำเนา สามารถขอย้ายสถานที่เรียนชั่วคราวได้ 1 ภาคเรียน หากเกิน 1 ภาคเรียนสถานศึกษาควรแนะนำให้ผู้เรียนใช้วิธีการลาออกจากสถานศึกษาเดิมไปเป็นผู้เรียนของสถานศึกษาแห่งใหม่และศึกษาต่อเนื่องจนจบหลักสูตร

การยื่นคำร้องขอจบการศึกษา

              
เมื่อผู้เรียนสอบผ่านเกณฑ์ที่ครบรายวิชาบังคับ วิชาเลือก ทำกิจกรรม กพช. ครบ 200 ชั่วโมง ผ่านการประเมินคุณธรรม และผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ เรียบร้อยแล้วจะต้องยื่นคำร้องขอจบการศึกษาและขอรับใบประกาศนียบัตรที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ โดยนหลักฐานต่อไปนี้มาประกอบ
            1. รูปถ่ายขนาด 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวไม่มีลวดลายและอักษรปักใด ๆ หรือเครื่องแบบชุดสากล พร้อมเขียน ชื่อ - นามสกุล หลังรูป (ไม่ใช้รูปถ่ายด่วนหรือโพลาลอยด์)
            2. ใบประกาศนียบัตร หรือใบ รบ. ที่เป็นวุฒิก่อนเข้าเรียน ถ่ายสำเนา 1 ฉบับ พร้อมนำฉบับจริงมาแสดงด้วย
            3. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
            4. บัตรประจำตัวนักศึกษา
            5. ใบสำคัญเปลี่ยนชื่อและนามสกุล (ถ้ามี) ถ่ายสำเนา 1 ฉบับ พร้อมฉบับจริงมาแสดงด้วย

การพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา
         
  นักศึกษาจะพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเมื่อ
           1. สำเร็จการศึกษา
           2. ลาออก
           3. ตาย
           4. ออกตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา
           5. ไม่ลงทะเบียนเพื่อรักษาสภาพเป็นนักศึกษาเป็นเวลา 6 ภาคเรียนติดต่อกัน
           6. ขาดคุณสมบัติการเป็นนักศึกษา กศน.

 



เข้าชม : 18631
 
 
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-332752
โทรสาร  053-332752
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี