ในปี พ.ศ. 2494 ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ประเภทมูลสารศึกษา ครอบคลุมถึงเรื่องการอนามัยเกษตร อุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการดำรงชีพของประชาชนให้ดีขึ้นต่อมาองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับรัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม ชื่อว่า ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี หรือ ศ.อ.ศ.อ. โดยมุ่งผลิต สารนิเทศเพื่อออกไปทำงานพัฒนาท้องถิ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2502ได้โอนสารนิเทศจากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยและเปลี่ยนชื่อจาก “สารนิเทศ” เป็น“พัฒนากร” บทบาท ศ.อ.ศ.อ. ในฐานะที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้ทำงานพัฒนาท้องถิ่นจึงสิ้นสุดลงและต่อมาเปลี่ยนเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันนท์ เป็นายกรัฐมนตรี ได้ยกฐานะการจัดการศึกษานอกโรงเรียนขึ้นเป็นกรม “กรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2522” ซึ่งมีนายแพทย์บุญสม มาร์ติน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ในขณะนั้น โดยได้โอนกองการศึกษาผู้ใหญ่และสำนักงานโครงการพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดกรมสามัญศึกษา และศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษากับศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา (ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง ปัจจุบัน) สังกัดกรมวิชาการ มารวมไว้ด้วยกันแล้วตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 โดยแบ่งส่วนราชการส่วนกลางประกอบด้วย 6 หน่วยงาน คือสำนักงานเลขานุการกรม กองแผนงานและวิจัย กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน กองปฏิบัติการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา ทั้งยังมีหน่วยงานที่จัดตั้งตามประกาศกระทรวงและกรม คือ กองการเจ้าหน้าที่ หน่วยศึกษานิเทศก์ และหน่วยตรวจสอบภายใน นอกจากนี้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 กระทรวงศึกษาได้ประกาศจัดตั้งหน่วยงานเทียบเท่ากองขึ้นอีก 1 แห่ง คือ สำนักงานโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในปี พ.ศ. 2534 โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการต่างๆ ในกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตลอดจนการเรียกชื่อส่วนราชการบางส่วนไม่สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบ