แต่นักวิจัยบอกว่า การได้พักสักนิดจะช่วยให้สมองรวบรวมและประมวลสิ่งที่เราได้เรียนรู้เข้าสู่ระบบความจำได้ดีกว่า
นักวิจัยอธิบายว่า การพักเพื่อให้สมองประมวลและเรียบเรียงข้อมูลนั้นจะเกิดขึ้นได้ยากถ้าสมองยังได้รับสิ่งเร้าจากเรื่องอื่นอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การเล่นเกม หรือกิจกรรมสังคมก็ตาม
นักวิจัยเรียกการพักสมองแบบนี้ว่า wakeful rest ซึ่งก็หมายถึงการพักสมองขณะที่ยังตื่นอยู่
โดยผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Plos One พบว่า ผู้สูงอายุจะสามารถจดจำคำต่างๆ หลังการทดลองได้ดีกว่า ถ้าได้พักสมองราว 10 นาที และความจำจากการเรียนรู้สิ่งใหม่นี้จะอยู่ได้นานแม้เวลาจะผ่านไปแล้วถึงเจ็ดวันก็ตาม
ข่าวดีก็คือ ความสามารถของสมองในการจดจำ - หากได้พักสมองสักนิดนี้ - จะเกิดขึ้นทั้งในกลุ่มคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยืนยันได้จากผลการศึกษาเมื่อปี 2562 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Neuroscience Letters ด้วย
นักวิจัยแนะว่า การพักสมองขณะที่ยังตื่นอยู่นี้สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่หาเวลาพักเงียบๆ ราว 5 ถึง 10 นาทีเท่านั้นโดยไม่สนใจกับสิ่งเร้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งหนังสือ
และนอกจากการพักสมองชั่วครู่แล้ว ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังแนะด้วยว่า การนอนหลับพักผ่อนก็มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเราได้ในสองด้าน คือนอกจากการอดนอนทำให้เราไม่มีสมาธิพอที่จะให้ความสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอยังมีบทบาทสำคัญช่วยให้สมองได้ประมวลรวบรวมผลความจำซึ่งก็มีความสำคัญต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยตรง
ดังนั้นคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญต่อทั้งผู้ที่ยังอยู่ในวัยเรียนและผู้ที่อยู่ในวัยที่ต้องไขว่คว้าหาความจำก็คือ ควรพักสมองสักนิดหลังจากที่ได้เรียนอะไรใหม่ๆ ผ่านไป และพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ในคืนนั้นเพื่อเก็บรักษาความทรงจำเอาไว้ในระยะยาว