14 พฤศจิกายน "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง"
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9ทรงมีพระราชดำริส่วนพระองค์ในเรื่องการจัดทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยมีการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ซึ่งจะใช้สารเคมีโปรยในท้องฟ้า จนกระทั่งไอน้ำอิ่มตัวและกลั่นตัวออกมากลายเป็นเม็ดฝน
โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 15 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498
ในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์เดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล
ความเป็นมาของวันที่ 14 พฤศจิกายน "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง"
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น อันกอปรด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระราชอุตสาหะวิริยะและการที่ทรงสละเวลาส่วนพระองค์แม้ในยามดึกดื่นค่ำคืนอย่างเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ พระวรกายมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อนพืชผลเสียหายจากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า
สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่า และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง" ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้าแต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมดดังที่ทรงสังเกตเห็น ในขณะนั้นให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น "โครงการพระราชดำริฝนหลวง" ในปัจจุบัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นองค์กรรองรับ โครงการพระราชดำริฝนหลวง มาตั้งแต่เริ่มแรกโครงการ ได้เสนอในคณะรัฐมนตรีมีมติเฉลิมพระเกียรติในฐานะ พระบิดาแห่งฝนหลวง และให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" เพื่อสนองพระบรมราโชบาย ตำราฝนหลวงและข้อแนะนำทางเทคนิคที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมเกล้าฯ รับมาถือปฏิบัติอย่างสัมฤทธิผลในช่วงปี พ.ศ.2542-2545 ดังกล่าวข้างต้น
ขั้นตอนการทำฝนหลวง
ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน
เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการในขั้นตอนนี้มุ่งใช้สารเคมีกระตุ้นให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำหรือความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ไม่ควรเกิน 10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ (แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ค่า critical relative humidity ต่ำ) เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ (เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆด้วย) ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มก่อตัวและเจริญเติบโตทางตั้งแล้ว จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนโปรยเป็นวงกลมหรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วม (main cloud core) ในบริเวณปฏิบัติการ สำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน
เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะสำคัญมากในการปฏิบัติการ เพราะจะต้องเพิ่มพลังงานให้แก่การลอยตัวขึ้นของก๊าซ (updraft) ให้ยาวนานออกไป ต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์การทำฝนควบคู่ไปพร้อมกันเพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับความแรงของ updraft มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลายนะ
ขั้นตอนที่สาม : โจมตี
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีกและกระจังหน้าของเครื่องบิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องอาศัยประสบการณ์มาก เพราะจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงของ updraft หรือทำให้อายุของ updraft หมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็นคือเพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน จึงทำให้เกิดฝนขึ้น
ที่มา : https://www.nationtv.tv/main/content/378805928
เข้าชม : 1694
|