[x] ปิดหน้าต่างนี้
 




 


เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : ข่าวเด่น
หัวข้อเรื่อง : วันอานันทมหิดล ๙ มิถุนายน : ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด

พุธ ที่ 9 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2564


 
๙ มิถุนายน “วันอานันทมหิดล”
วันนี้เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว “กระสุนนัดเดียว ได้ยินทั้งประเทศ” แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็ได้เกิดขึ้น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ สวรรคต เช้าวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. เสียงปืนนัดหนึ่งได้ดังขึ้นในห้องพระบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง มหาดเล็กหน้าห้องพระบรรทมได้รีบเข้าไปดู เห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ บรรทมอยู่ มีพระโลหิตไหลเปื้อน พระองค์และเสด็จสวรรคตเสียแล้ว
ข่าวในหลวง รัชกาลที่ ๘ สวรรคตนำความโศกสลดมาสู่พสกนิกรชาวไทยในขณะนั้นอย่างใหญ่หลวง เสียงร่ำไห้ รำพัน และความเงียบสงัดแผ่ไปทั่วทุกมุมเมือง ความทุกข์โศกเศร้าอาลัยของปวงชาวไทยมีมากมาย จนเหลือที่จะพรรณาได้
“...ข่าวการสวรรคต ของรัชกาลที่ ๘ ถูกปิดมิให้สมเด็จฯ พระพันวัสสาทรงทราบ...หญิงจีนเดินร้องไห้เมื่อทราบข่าวการสวรรคต...”
หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นลงข่าวถึงการสวรรคตของ รัชกาลที่ ๘ อย่าวโศกสลด
“วันสวรรคต ถูกปกคลุมด้วยเมฆสีดำเป็นระยะ”
สมาคมพาณิชย์จีนและสมาคมพ่อค้าจีน เรียกว่าประชุมพิเศษให้พ่อค้าขายเครื่องไว้ทุกข์ราคาถูก เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทั่วโลกต่างสลดใจในข่าวสวรรคต วิทยุสิงคโปร์หยุด ๒ วัน บีบีซีหยุดครึ่งนาที ส่งสาสน์ถึงพระราชชนนีในหลวง คณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและชาวไทย และหนังสือพิมพ์อังกฤษทุกฉบับถวายพระเกียรติอย่างเต็มที่
รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอังกฤษ สถานทูตอังกฤษ กองทัพอังกฤษในประเทศไทยส่งสาสน์แสดงความเศร้าสลดในเหตุการณ์ครั้งนี้
“...รัฐบาลอเมริกันแสดงความโทมนัสมายังประชาชนชาวไทย...ที่ได้สูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเคารพ..”
“...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชันษาในวัยหนุ่มได้ทรงเป็นภาพพิมพ์ใจแก่บุคคลที่ได้เข้าเฝ้า ข้าพเจ้ารู้สึกโทมนัสยิ่งที่พระองค์ก็ทรงด่วนจากเราไป ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างแท้จริงต่อชาวไทยที่ได้สูญเสียสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะและทรงเมตตากรุณาต่อพระบรมวงศานุวงศ์ในยามวิปโยคนี้...” ฯลฯ
“...ด้วยนับแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ศกนี้เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มทรงพระประชวรเกี่ยวกับพระนาภีไม่เป็นปกติ และทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง แม้กระนั้นก็ดีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จประพาสเยี่ยมราษฏรอันเป็นพระราชกิจของพระองค์ ครั้นต่อมาพระอาการเกี่ยวกับพระนาภีก็ยังมิได้ทุเลา จึงต้องเสด็จประทับอยู่พระที่นั่งมิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ครั้นวันที่ ๙ มิถุนายน ศกนี้ ตอนเช้าเวลา ๖ นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถน้ำมันละหุ่งแล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวัน แล้วเสด็จเข้าพระที่ ครั้งเวลาประมาณ ๙ นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนบนพระที่นั่ง จึงรีบเข้าไปดู สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่มีพระโลหิตไหลเปื้อนพระองค์และสวรรคตเสียแล้ว มหาดเล็กห้องพระบรรทมจึงไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีให้ทรงทราบ แล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ต่อนั้นมามีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีได้เข้าไปกราบถวายบังคม และอธิบดีกรมตำรวจกับอธิบดีกรมการแพทย์ได้ไปตรวจพระบรมศพและสอบสวน สันนิษฐานได้ว่า คงจะทรงจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบ แล้วเกิดอุปัทวเหตุขึ้น...”
สำนักพระราชวัง
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
การสวรรคตของพระองค์เกิดจากอุบัติเหตุด้วยพระแสงปืนลั่นขณะทอดพระเนตรอยู่ ซึ่งได้สร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อคำแถลงการณ์ของราชการนี้ จึงมีแต่ความสงสัยว่า แท้จริงแล้วพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยเหตุใดกันแน่
ความสูญเสียที่สมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชาทรงได้รับในครั้งนี้ ก็คงไม่ต้องกล่าวถึงว่า สาหัสและรุนแรงยิ่งกว่าสักเพียงไหน ในตอนหนึ่งของหนังสือพระมามลายโศกหล้าเหลือสุข ได้กล่าวถึงบันทึกความรู้สึกของผู้ที่เคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชาเอาไว้ดังนี้
“...ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นแม่ลูกที่ไหนรักกันมากเท่านี้ คำก็แม่สองคำก็แม่ แม่รักลูกเสียจริง ๆ ประเดี๋ยวๆ ก็เข้ากอดกันซ้ายคนขวาคน นันท์อย่างนั้น เล็กอย่างนี้ คำน้อยไม่กล่าวให้เป็นที่สะเทือนใจกันเลย ล้อกันเล่น มาตั้งแต่เล็กจนโตคิดดูเถิดลูกกำพร้าพ่ออยู่ในหัวอกแม่มาตั้งแต่น้อยคุ้มใหญ่ แม่กับลูก ลูกกับแม่จะรักกันสนิทสนมเพียงไร แต่ละพระองค์ล้วนแต่เป็นดวงพระราชหฤทัยของกันและกัน แต่เมื่อพระองค์หนึ่งต้องมาจากไป ด้วยอาการเช่นนี้ ใครเล่าจะเข้ามาอยู่ข้างขวา หัวอกสมเด็จพระราชชนนีจะเป็นอย่างไร ผู้สนิทสนมที่ได้เฝ้าอยู่โดยใกล้ชิดย่อมรู้ชัดเจนดีอยู่...”
ความโศกเศร้าในพระราชหฤทัยในครั้งนั้น ท้าวโสภานิเวศน์ (ดำเนิน กัมปนานนท์) ได้ย้อนความทรงจำเหตุการณ์ในช่วงนี้เอาไว้มีความว่า
“...พอเสด็จกลับ (จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่ประดิษฐานพระบรมศพ) พระเจ้าอยู่หัวประทับข้างพระองค์สมเด็จพระราชชนนี ทั้งสองพระองค์ประทับบนพระเก้าอี้องค์เดียวกัน สมเด็จฯ ก็ทรงซ้อนพระบาทขึ้นมาวางบนพระเก้าอี้แล้วก็หมดพระกำลัง ต่างพระองค์หันพระพักตร์หนีกันทรงพระกันแสง คนหมอบเฝ้าฯ อยู่ต่างก้มเปิดหีบทำเป็นค้นอันนั้นอันนี้ ข่าวลือก็มีต่าง ๆ ว่าเขาจะมาฆ่าอีกพวกเราก็ไปนั่งเฝ้ากัน ผู้หญิงทั้งนั้น...”
ที่มา: หนังสือบันทึกอานันทมหิดล ยุวกษัตริย์พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย และหนังสือเอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ

วันนี้ ๙ มิถุนายน เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต อย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ต่อไป
ประกาศ
โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
โดยที่ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
โดยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ที่ร่วมพระราชชนนี ตามความในมาตรา ๙ (๘) แห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
โดยที่รัฐสภาได้ลงมติ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ แสดงความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ในการที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙
จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี
แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์
เดิมทีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า
“...ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน...” จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “...ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้...” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก ๒๐ ปีต่อมา
วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “...เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม...”
ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี
ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
ที่มา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์, วงวรรณคดี (สิงหาคม ๒๔๙๐).




"ยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อไป"

จากเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เมื่อ ๗๕ ปีล่วงมาแล้วเราได้เสียพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักพระองค์หนึ่งไป
และเราได้พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และเป็นที่รักยิ่งอีกพระองค์หนึ่งมาแทน
บัดนี้ทั้งสองพระองค์ได้สถิตอยู่ร่วมกันแล้ว
น้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
 
ที่มา: โบรานนานมา


เข้าชม : 1408


ข่าวเด่น 5 อันดับล่าสุด

      กระชาย : ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด 15 / มี.ค. / 2566
      ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ 18 / ก.ค. / 2564
      วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 ก.ค. : ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด 1 / ก.ค. / 2564
      12 มิถุนายน วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล :ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด 12 / มิ.ย. / 2564
      วันอานันทมหิดล ๙ มิถุนายน : ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด 9 / มิ.ย. / 2564




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ ที่นี่ เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ 
ที่อยู่ 66 หมู่ 9 ตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50240
โทรสาร 053-461350 E-mail
libhot4@gmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี