[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

เนื้อหา : สาระน่ารู้พัฒนาทักษะชีวิต
หมวดหมู่ : แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
หัวข้อเรื่อง : หมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชนไทลื้อ

ศุกร์ ที่ 7 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2563


"หมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชนไทลื้อ"

บ้านออนหลวย ต.ออนเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ 

บ้านออนหลวย ต.ออนเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่  ห่างจากอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่  ไปทางทิศตะวันออก ตามทางหลวงหมายเลข 1317 ประมาณ 40 ก.ม. ห่างจากอำเภอสันกำแพง 18 ก.ม. ตามเส้นทางสายเก่า 1006 รหัสไปรษณีย์ 50130

 จากพ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๕ สภาวัฒนธรรมตำบลออนเหนือและองค์การบริหารส่วนตำบลออนเหนือพร้องทั้งราษฎรในหมู่บ้านออนหลวย หมู่ ๖,๗ ได้จัดเวทีเสวนา เพื่อสืบ และค้นหาตนเองโดยพิจารณาอัตลักษณ์จากบริบทต่างๆ เช่น ภาษาพูด การแต่งกาย การทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ จึงแน่ใจว่าชุมชนคนบ้านออนหลวยคือไทลื้อ ที่มีประวัติอันยาวนาน

ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ได้รับงบประมาณส่งเสริมการท่องเที่ยวจากรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อดำเนินการพัฒนาชุมชน สาขาย่อยรองรับโครงการของอำเภอสันกำแพง(ข่วงสินค้าโอทอป) โดยนายศรัญญู มีทองคำ นายอำเภอแม่ออน เป็นประธานโครงการดำเนินงาน โดยให้ชื่อโครงการว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชนไทลื้อ
 



ประวัติศาสตร์
  

เมืองออนโบราณ ตั้งเมืองเป็นแนวยาวตามลำน้ำแม่ออน เป็นชุมชนใหญ่ มีแหล่งผลิตเครื่องปั้น ดินเผา ที่ใช้ไฟสูง พบเตาเผาในตำบลออนใต้ จำนวน 83 เตา กระจายตามลำห้วยแม่ลานซึ่งสะท้อนถึงภูมิปัญญา และเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผาตลอดจนถึงฐานะทางเศรษฐกิจที่เป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกสมัยต่อมาว่า เครื่องถ้วยสันกำแพง (ดูไกรศรี นิมมานเหมินทร์ เครื่องถ้วยสันกำแพง 2503)

ในยุคหริภุญไชยมีอำนาจลุ่มน้ำปิง  ดินแดนถิ่นนี้ขึ้นแก่หริภุญไชย  สมัยพระยายีบาได้โปรดให้ อ้ายฟ้า สร้างเหมืองเชื่อมระหว่างแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวงเพื่อนำน้ำเข้าเขตพื้นที่ในเขตบ้านแม่ปูคา(ดู ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ 2539) ต่อมาสมัยอาณาจักรล้านนามีอำนาจ เหนือลุ่มน้ำปิง ปรากฏมีหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ ศิลาจารึกวัดเชียงแสน ระบุในปี พ.ศ.2024 หมื่นดาบเรือน ขุนนางเมืองเชียงใหม่ ได้นำคนมาจากพันนาพูเลา เมืองเชียงแสน(ในจ.เชียงรายปัจจุบัน)มาสร้างวัดเชียงแสน สร้างพระคัมภีร์ หอธรรม และ กัลปนาคนให้วัด(มอบหรือยกข้าทาสให้วัด) 25 ครัว สร้างวิหาร พระเจดีย์ ในวัดเชียงแสน พ.ศ.2031 (จ.ศ.850) (ดูศิลาจารึกวัดเชียงแสนที่วัดป่าตึง) บรรดาคนเหล่านี้คือ บรรพบุรุษอีกชุดหนึ่งของคนเมืองออนยุคแรก

สมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่พระองค์แรก( พ.ศ.2325-2358) ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ได้แผ่อำนาจไปยังรัฐฉานของพม่า และแคว้นสิบสองปันนาของจีน  ได้รวบรวมชาวไทลื้อ ไทยอง ไทเขิน ที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองต่างๆ เช่น เมืองยอง เมืองตุง เมืองม้า  เมืองลอ  เมืองพวก  เมืองข่า เมืองนุง  เมืองหลวย เมืองยาง เมืองแลม  เมืองติ่ง  เมืองปุ  เมืองสาด  เมืองแจด  เมืองถึง  เมืองกุน  ท่าอ้อฯลฯ มาเป็นจำนวนมาก (ดู แสวง มาละแซม คนยองย้ายแผ่นดิน 2540)  คนไทยลื้อในเมืองหลวยชายแดนรัฐฉานและสิบสองปันนา ได้มาตั้งมั่น สร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยแถบลุ่มนำแม่ออน เรียกว่าตนเองว่าชาวไทยลื้อ"เมืองหลวย" ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนไทลื้อในแม่ออนปัจจุบัน(สมโชติ อ๋องสกุล : แม่ออนของเรา หน้าคำนำ )

ยุคแรก(ก่อนพ.ศ. 2395) บ้านออนหลวยชื่อว่า"เมืองหลวย" "แคว้นเมืองออน" ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ มีวัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษาเล่าเรียน  เขียน อ่าน ทั้งวัฒนธรรมประเพณี คาถาอาคมต่าง ๆ  แต่เดิมวัดอยู่ทางทิศใต้หมู่บ้านชื่อ"วัดมิ่งแก้ว"  ต่อมาได้ย้ายวัดขึ้นไปทางทิศเหนือของหมู่บ้านได้เปลี่ยนชื่อเป็น"วัดออนหลวย" เมื่อพ.ศ. 2395 เพราะว่า วัดตั้งอยู่บนฝั่งน้ำแม่ออน  เชื่อว่าบ้านออนหลวยเป็นเมืองหลวยแต่เดิมของชาวไทยลื้อยุคแรกที่มาตั้งมั่นอยู่ก่อนแล้ว และต่อมายุคหลังก็มีชาวไทลื้ออพยพมาสมทบอีก(อดีตพระครูพิพัฒน์ ชินวงศ์ ;สัมภาษณ์)

น้ำแม่ออน

     น้ำแม่ออนเป็นแม่น้ำสายหลักของคนทุกชาติพันธ์ในกิ่งอ.แม่ออนและ อ.สันกำแพง คือ ไทลื้อ ไทเขิน  ไทยอง  และคนพื้นเมือง   แม่น้ำสายนี้ไหลจากเทือกเขาขุนออน(บ้านขุนออน หมู่ 3 ต.ออนเหนือ) ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือห่างจากบ้านออนหลวยประมาณ 7 กิโลเมตร น้ำแม่ออนไหลผ่านและหล่อเลี้ยงพื้นที่ทำการเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ เริ่มจากบ้านขุนออน บ้านปางตะเคียน บ้านหนองหอย  บ้านหัวฝาย บ้านออนหลวย บ้านดอนทราย  บ้านออนกลาง  บ้านป่าตัน บ้านวาก  บ้านเปาสามขา  บ้านทุ่งเหล่า  บ้านโห้ง  บ้านริมออน  บ้านร้องวัวแดง  บ้านป่าเป้า  บ้านสันโค้ง  บ้านป่าไผ่(แช่ช้าง)  บ้านน้อย  บ้านออน บ้านสันต้นบง  ไหลไปรวมกับน้ำแม่ปูคาเข้าสู่ที่นาของชาวนาในแถบบ้านสันป่าค่า  บ้านแม่โฮม  ในตำบลสันกำแพง และตำบลต้นเปา จ.เชียงใหม่  เหตุที่คนสมัยก่อนเรียกแม่นำสายนี้ว่า น้ำแม่ออน เพราะว่า ในอดีตสองฝั่งแม่น้ำนี้มีต้นไม้ดอกชนิดหนึ่งเป็นไม้ยืนต้น ประเภทพืชใบเลี้ยงคู่   ลักษณะลำต้นเป็นเถา คล้ายดอกเล็บมือนาง ชื่อว่าดอกคำออน  เลื้อยเกี่ยวพันกันเป็นพุ่มเล็ก พุ่มใหญ่แล้วแต่อายุ  บางทีก็เกี่ยวพันต้นไม้อื่น ๆ มากมาย เวลาออกดอกคราวใดจะมีสีชมพูสวยงามมาก (สีชมพู ภาษาถิ่นเรียกว่า สีออน) แรกเริ่มออกดอกตูมสีขาว  สีชมพู นานหลายวันก็เป็นสีชมพูเข้ม สีแดงเรื่อ ๆ และจะเป็นสีนำตาลเต็มพุ่ม  มองดูแทบจะไม่เห็นใบ มองดูไกล ๆ คล้ายมีหมอกควันมาปกคลุมต้นไม้ และจะออกดอกนานประมาณ 45 วัน ในขณะเดียวก็จะทะยอยร่วงหล่นลงบนพื้นดินและในแม่น้ำสายใหญ่ซึ่งเป็นสายเลือดของเกษตรกรในแถบนี้ แม่นำใหญ่ไหลเชี่ยวกราก  และบางคุ้งก็ไหลเอื่อย ๆ ตามสภาพพื้น  โขดหิน  ตลิ่งชัน  ดูสีสัน  สดสวย  นำความสุข  ภาคภูมิใจที่มีน้ำสีออนไหลผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ  คนไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง และคนพื้นเมืองในสมัยนั้นจึงให้ชื่อแม่นำนี้ว่า น้ำแม่ออน (พ่อหลวงน้อยมูล ศรีวิยศ ,ลุ๊ลุงกู๊ ,พ่อหนานมูล สุวรรณนำ ;สัมภาษณ์)

สภาพปัจจุบัน

เขตติดต่อ

ทิศเหนือ ติดต่อบ้านหัวฝาย หมู่ 5 ต.ออนเหนือ กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ทิศใต้      ติดต่อ หมู่ที่ 9 และ 11 ต.ออนกลาง กิ่งอ.แม่ออน

ทิศตะวันออก  ติดต่อบ้านดอนทราย หมู่ที่ 8 ต.ออนเหนือ

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสหกรห์ 2 ต.บ้านสหกรณ์ กิ่งอ.แม่ออน

หลักฐานที่เชื่อถือได้

1. หอพระไตรปิฏก  ทรงจตุรมุขสองชั้น  ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูนซึ่งเป็นฝีมือของช่างชาวพม่า ชั้นบนสร้างด้วยไม้ ฝีมือช่างไทยลื้อ (พ่อคำ อินต๊ะแดง ; สัมภาษณ์)

2. พระวิหารโครงสร้างไม้สักทอง(โครงหลังคา ม้าต่างไหม)เสาเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าสองคนโอบ ยาว 16 ศอก จำนวน 14 ต้น

3. พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ปางมารวิชัย(สวยงามมาก) ก่อด้วยอิฐถือปูน หน้าตักกว้าง 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 3 ศอก 10 นิ้ว

4. ความเชื่อต่าง ๆ เช่น ผีขุนน้ำ  ผีเสื้อวัด  ผีเสื้อบ้าน  ผีเสื้อเมือง  ผีปู่ย่า  ผีไร่  ผีนา  ปู่แถนย่าแถน   การสู่ขวัญวัว,ควาย  การสืบชาตา  การบนบานศาลกล่าว  ผีเจ้าที่  ผีหม้อนึ่ง  เครื่องลางของขลัง  หมอแหก  เสกเป่า  เสกดื่มน้ำมนต์  น้ำมันมนต์   ลองของ  ลงยัณต์  หมอดู  สาบาญ  คาถาอาคม  หมอผี  ผีก๊ะ(ผีปอบ)  ผีสือ(กะสือ)เป็นต้น

5. วัฒนธรรม เช่น การนั่งล้อมวงรับประทานอาหารแบบขันโตก  ปั้นจิ้มข้าวด้วยมือ  อยู่อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่  การปลูกบ้านโดดๆ มีเรือนชานเพื่อรับลม ฝนและแดดแบบล้านนา  หลังคาบ้านและหน้าจั่วมีกาแล   การเอามื้อ(ลงแขก)   ภาษาพูดแบบไทยลื้อ   อักขระภาษาเขียนคล้ายตัวขอม  ปั๊บกระดาษสา  ธรรมใบลาน  การเล่าค่าว จ๊อย   เขียนค่าว(แต้มค่าว)  การแต่งกายแบบไทยลื้อ  ผ้าสีดำ  สีนำเงิน  สีขาว เต่วสะดอ(กางเกงขาใหญ่)  ผ้าทำเองจากการทอมือจากฝ้ายไร่ การฟ้อนเมือง  และฟ้อนม่าน(รับเอามาจากพม่า)   เป็นต้น

6. ประเพณี เช่น ตานก๋วยสลาก  การใส่ผี(แต่งงาน)  การเสียผี(ค่าสินไหมล่วงละเมิด)  ปอยหลวง(ฉลองเสนาสนะ)   เป๊กตุ๊(อุปสมบท)  ปอยน้อย(บรรพชา)  แห่ครัวตาน   แห่กลองปู่จา  ปี๋ใหม่เมือง  ตานไม้ก้ำสะหลี  ดำหัวคนเฒ่า   ตานขันข้าว  การเล่นอี่บาง อี่บ้า การเล่นมอญซ่อนผ้า  การเล่นผีตาโขน  เป็นต้น 

ที่มา :  https://www.gotoknow.org/posts/110743

        : ฮักแม่ออน


 


เข้าชม : 1434


แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น 5 อันดับล่าสุด

      ไร่ปลูกฝัน 17 / ส.ค. / 2566
      กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกกาแฟบ้านป๊อก 19 / ก.พ. / 2565
      กลุ่มทอผ้าปาเกอญอบ้านป่างิ้ว 19 / ก.พ. / 2565
      วัดห้วยบงธรรมจาริก 19 / ก.พ. / 2565
      วัดแม่ตะไคร้ 19 / ก.พ. / 2565


 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอแม่ออน  จังหวัดเชียงใหม่ 
ที่อยู่ สามแยกบ้านออนหลวย หมู่ที่ 6 ตำบลออนเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 50130
โทร 0 53 92 9101 โทรสาร 
 0 53 92 9081 E-mail librarymaeon@gmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี