สวนเกษตรธรรมชาติแม่ออน
ประวัติความเป็นมา
ครูอินสอนเป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด บิดารับราชการเป็นครูสอนวิชาเกษตร ทำนา ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม ครูอินสอนได้ช่วยบิดามารดาทำงานด้านเกษตรมาตั้งแต่เล็ก หลักจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จึงสอบเข้ารับราชการครู ในปี 2513 ตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านตุงติง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ครูผู้สอนที่โรงเรียนบ้านออนหลวย และโรงเรียนหมู่บ้านสหกรณ์ 3 สปก.จังหวัดเชียงใหม่ ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านงานอาชีพและเทคโนโลยี และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับงานเกษตรแก่นักศึกษามาโดยตลอด
ครูอินสอนเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะความรู้อย่างต่อเนื่อง ได้บูรณาการองค์ความรู้โดยใช้หลักวิชาที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน จากการอบรมตามหน่วยงาน/มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เกี่ยวกับงานเกษตรกรรมธรรมชาติการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ การเลี้ยงสัตว์ อาทิ กบนา ผึ้ง ปลาน้ำจืด การเพาะเห็น การขยายพันธุ์พืช แล้วนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว
ภายหลังได้ซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้ง “สวนเกษตรธรรมชาติแม่ออน” ขึ้น เป็นสถานที่สำหรับถ่ายทอดความรู้ฝึกอบรมแก่ผู้เรียน เกษตรกรรม หน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชน ประชาชนผู้สนใจทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
ที่ตั้ง 135 ม. 6 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 50130
เจ้าของ / ผู้ครอบครอง / ผู้จัดการแหล่งเรียนรู้
หน่วยงานเอกชน
ชื่อบุคคลของแหล่งฯ (สำหรับติดต่อ)
คุณอินสอน สุริยงค์ 135 หมู่ที่ 6 ต.ออนเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-859353
ประเภทแหล่งเรียนรู้
แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นและแหล่งฝึกอาชีพ
เนื้อหาสาระสำคัญในแหล่งเรียนรู้
- ถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรธรรมชาติ การทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานและเกษตรปลอดสารพิษ ได้แก่
1. ผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์หมักด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ เมื่อสัตว์กินอาหารเข้าไป ทำให้สัตว์มีพัฒนาการในการเจริญเติบโต แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคดีในระดับที่น่าพอใจ
2. ผลิตน้ำหมักชีวภาพและฮอร์โมนจากพืชผักสมุนไพร โดยนำสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ในท้องถิ่น จำพวกบอระเพ็ด ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน ใบน้อยหน่า ตะไคร้ ทำฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืชอินทรีย์ สารขับไล่แมลงแบบอินทรีย์ปลอดสารพิษ ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัย และส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของทุกฝ่าย ตลอดจนการนำวัสดุที่เหลือใช้จากสวนเกษตร เช่น ต้นกล้วย ขี้เลื่อย ผักตบชวา ซากเห็ดใช้แล้ว ต้นข้าวโพด เปลือกถั่ว มาทำเป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ดฟางไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่วยในชุมชน
3. ผลิตน้ำยาหมักเอนกประสงค์โดยผลิตจากพืชผลไม้ในท้องถิ่น เช่น ผลประคำดีควาย มะเฟือง มะขาม มะละกอ ผิวส้ม เป็นต้น ที่ใช้ทำความสะอาด ล้างจาน ซักผ้า ซึ่งปลอดสารพิษ ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
4. ทำปศุสัตว์อินทรีย์ผสมผสาน มีการเลี้ยงหมูหลุม ไก่ เป็ด เลี้ยงปลา เลี้ยงกบในกระชัง บ่อพลาสติก บ่อซีเมนต์ ในยางรถยนต์เก่า เลี้ยงในตุ่ม โดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ ซึ่งในการทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานนั้น นอกจากทำให้สัตว์มีพัฒนาการในการเจริญเติบโตแล้ว ยังส่งผลให้มูลของสัตว์ที่เลี้ยงไม่สร้างมลพิษ ให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย
5. ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในท้องถิ่น เช่น อาหาร หมู ไก่ เป็ด ปลา และกบ ซึ่งผลิตจากวัสดุที่หาได้ง่าย ในท้องถิ่น และวัสดุอินทรีย์ในฟาร์ม เช่น ข้าวโพด พืชผัก กากถั่วเหลือง
6. ผลิตจุลินทรีย์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น พืชผักในท้องถิ่น เช่น ผลไม้สุก ต้นอ้อย ต้นไผ่ เป็นต้น ช่วยในกระบวนการย่อยสลายและลดกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์
ความรู้ที่สามารถเรียนได้จากแหล่งเรียนรู้แห่งนี้
ได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรทฤษฎีใหม่ การขยายพันธุ์พืช การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ การผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเอนกประสงค์ โดย ใช้วัสดุจากธรรมชาติ การเลี้ยงสัตว์บก การทำปศุสัตว์อินทรีย์
เข้าชม : 1059
|