ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ
ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
โทร 084-806-4597, 087-173-9023
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยน้ำดิบ ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ณ บริเวณสองฟากฝั่งน้ำแม่ทา อันเป็นถิ่นอาศัยของชาวพื้นเมืองและชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งบุกรุกทำลายป่าเพื่อการเกษตรกรรม เช่น การทำนา การปลูกฟักทองและการปลูกข้าวโพดอ่อน ส่งจำหน่ายให้แก่โรงงาน เกษตรกรจึงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ และมีสภาพความเป็นอยู่ไม่ดีเท่าที่ควร
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือจึงเริ่มต้นขึ้น ในรูปโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ขุนแม่ทาเหนือ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยตั้งขึ้นบนพื้นที่ ๒๕ ไร่ ในเขตหมู่บ้านแม่ทาเหนือ ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่โครงการทั้งหมด ๒๔๕ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมหมู่บ้านในความรับผิดชอบ ๑๔ หมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ ป้องกันไม้ให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า มีประชากรประกอบด้วยเผ่ากะเหรี่ยง ๕๒๑ คน และคนพื้นเมือง ๖,๙๖๓ คน รวม ๗,๔๘๔ คน คิดเป็น ๑,๙๒๒ ครัวเรือน ในพื้นที่ ๑๔ หมู่บ้าน ๑๙ หย่อมบ้าน นับถือศาสนาพุทธ และคริสต์ บางส่วนนับถือผี
วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นกรอบ และแนวทางในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมอาชีพ การสร้างความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองของชุมชน การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารจัดการ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการบูรณาการกับหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของชุมชนด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
การดำเนินงาน
งานสาธิตการปลูกพืช งานทดสอบการปลูกเสาวรสหวาน สาธิตการเลี้ยงสัตว์ กระบือและสุกร กระต่าย ไก่ฟ้าคอแหวน
งานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ
ภาคการเกษตร งานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกพืช จำนวน ๔ ชนิด ได้แก่ พืชผักปลอดภัย ผักอินทรีย์ สมุนไพร และไม้ผล และด้านการเลี้ยงสัตว์ จำนวน ๕ ชนิด ได้แก่ กระบือนม กระต่าย ไก่สามสายเลือด สุกร และไก่ฟ้าคอแหวน
ผลการดำเนินงาน
สรุปผลการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร แก่เกษตรกรส่วนหนึ่งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยมีรายได้ที่ดี และมั่นคง ถึงแม้จะไม่ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ ซึ่งมีจำนวนมาก คือ ๑๔ หมู่บ้าน กระจายอยู่ใน ๓ ตำบล ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ จะมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่า และสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผัก ภายใต้ระบบ GAP, GLOBAL GAP และผักอินทรีย์กลุ่มเดิมโดยการปรับปรุง และรักษาคุณภาพของผลผลิตควบคู่ไปกับการส่งเสริม และสนับสนุนการปลูกพืชในหมู่บ้านใหม่ ได้แก่ กาแฟอาราบิก้าที่หมู่บ้านแม่วอง และหมู่บ้านขุนทา ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปจัดทำแปลงสาธิตระบบการปลูก และเพาะกล้ารองรับไว้แล้ว รวมทั้งการส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเยาวชน และกลุ่มอนุรักษ์ ตลอดจนการปรับปรุงการบริหารจัดการภายในศูนย์ฯ และกลุ่มศูนย์ฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ที่มาและภาพ : มูลนิธิโครงการหลวง
royalprojectthailand.com/maethanuier