เก๊กฮวย
ชื่อสมุนไพร เก๊กฮวย
ชื่ออื่น ๆ / ชื่อท้องถิ่น จวี๋ฮัว (จีน) , เบญจมาศสวน, เบญจมาศหนู (ไทย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysanthemum morifolium Ramat. (เก๊กฮวยพันธุ์ดอกสีขาว) Chrysanthemum indicum Linn. (เก๊กฮวยพันธุ์ดอกสีเหลือง)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dendranthema morifolium (Ramat.) Tzvel. (เก๊กฮวยพันธุ์ดอกสีขาว) Dendranthema indicum Linn. (เก๊กฮวยพันธุ์ดอกสีเหลือง)
ชื่อสามัญ Chrysanthemum , Flower tea , Edible Chrysanthemum, Florist Chrysanthemum
สรรพคุณของเก๊กฮวย
- แก้กระหาย เพิ่มความสดชื่น
- แก้ร้อนใน มีฤทธิ์เป็นยาเย็น
- ช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสเอดส์ได้
- ช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งและจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
- ช่วยในการบำรุงและรักษาสายตา
- แก้อาการปวดศีรษะ
- ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย
- แก้อาการหวัด
- ช่วยแก้อาการไอ
- ช่วยขับลม ระบาย
- ช่วยบำรุงปอด
- ช่วยบำรุงตับ ไต
- ช่วยรักษาผมร่วง
ประโยชน์ของดอกเก็กฮวยนั้นโดยส่วนมากแล้วจะนิยมนำมาทำน้ำเก๊กฮวยเพื่อใช้ดื่มแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย และยังสามารถปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งการปลูก ตัดดอกขาย ซึ่งนิยมปลูกพันธุ์ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่สีต่าง ๆ และปลูกเป็นไม้ดอกในกระถาง ไม้ดอกตามข้างทาง สวนสาธารณะ หรือสวนหลังบ้าน เป็นต้น รักษาโรคทางร่างกายภายนอกหรือนอกอวัยวะ เนื่องมาจากลม และความร้อน อย่างเช่น เริ่มมีไข้ใหม่ ๆ ตามฤดูกาล ทำให้เกิดอาการไข้ ปวดศีรษะ และ ไอ มักใช้ ร่วมกับใบหม่อน เมนทอล และ สมุนไพรชื่อเหลี่ยงเคี้ยว ( Fructus forsythiae ) นอกจากนี้ยังใช้กับอาการหวัดเนื่องจากอาการร้อน ใช้สำหรับอาการตาบวม แดง และปวดตา ตามองไม่ชัด หรือเบลอ และอาการอ่อนแรง สำหรับอาการตาบวมแดง ปวดตาเนื่องมาจากลม และความร้อนกระ ทบต่อ ตับ หรือ ไฟในตับมาก มักใช้ร่วมกับ ใบหม่อน ชุมเห็ดไทย และหญ้าเล่งต้า ( Radix gentianae ) สำหรับการพร่องของตับ และไต พร้อมกับอาการตามัว อาจใช้ร่วมกับ เก๋ากี้ เส็กตี่ ( Radix Rehmanniae Praeparata ) ใช้สำหรับการมึนศีรษะ และปวดหัว เนื่องจากการกำเริบของหยางในตับ สามารถใช้ร่วมกับ โกฐสอ และอื่น ๆ กรณีเป็นฝีเป็นหนอง บวมและเป็นพิษ อาจใช้ดอกสด แล้วนำมาบดผสมน้ำ แล้วดื่ม แล้วนำกากมาพอก อาการอักเสบที่ตา อาจใช้พอกโดยตำดอกสดประคบภายนอกดวงตา ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะดื่มชาเก๊กฮวยร้อน ๆ จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากอาหารไม่ย่อย รักษาผมร่วง โดยเชื่อว่าดอกเก๊กฮวยสามารถรักษาอาการผมร่วง ช่วยให้สีผมดำ เงางาม ไม่เปลี่ยนเป็นสีเทาก่อนวัยอันควร
ส่วนในทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยระบุว่าเก๊กฮวยสามารถช่วย ลดความดันโลหิต เพราะสมุนไพรชนิดนี้ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและต้านกระบวนการอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการรักษาและป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะจากความดันโลหิตสูง และมีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิตลงได้ รักษาโรคเบาหวาน การบริโภคเก๊กฮวยหรือผลิตภัณฑ์จากเก๊กฮวยอาจช่วยต้านโรคเบาหวานได้ เพราะสารประกอบในเก๊กฮวยอย่างสารฟีนอลและฟลาโวนอยด์อาจช่วยยับยั้งการทำงานเอนไซม์ที่มีผลต่อการดูดซึมน้ำตาลบางชนิด และอาจเป็นผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการรักษาโรคเบาหวานได้ ต้านมะเร็งต่อมลูกหมากคาดว่าการบริโภคเก๊กฮวยอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ เนื่องจากเก๊กฮวยประกอบด้วยสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และยับยั้งการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มีบทบาทในการควบคุมการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้อาการร้อนใน แก้กระหาย แก้ไข้ โดยใช้ดอกเก๊กฮวยแห้งประมาณ 5-9 กรัม ต้มกิน หรือทำเป็นชา แล้วดื่มในปริมาณที่เหมาะสม รักษาแผลฝีหนอง และแผลบวม โดยใช้ดอกเก๊กฮวยสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด บดผสมน้ำแล้วดื่ม จากนั้นนำกากดอกเก๊กฮวยมาพอกตามแผล ใช้เก๊กฮวย แก้หวัด แก้ร้อนใน แก้อาการตาเจ็บ ตาบวม ขนาดการใช้ ใช้ดอกแห้ง ประมาณ 5-9 กรัม ต้มกิน หรือทำเป็นชา ต้มดื่มในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ดอกเก๊กฮวยยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อช่วยบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกหลายตำรับอีกด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สำหรับดอกเก๊กฮวยจะที่นำมาใช้ควรเป็นดอกสีขาวหรือดอกสีเหลือง และไม่ใช่สายพันธุ์ที่เก็บมาจากในป่าเพราะอาจเป็นคนละชนิดกัน
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร การดื่มชาเก็กฮวยอาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย หรือมีอาการท้องเสียง่าย ควรดื่มน้ำเก๊กฮวยในปริมาณที่พอเหมาะ
- เก๊กฮวยเป็นพืชในวงศ์เดียวกับเบญจมาศ ผู้ที่มีอาการแพ้พืชตระกูลนี้มีแนวโน้มแพ้เก๊กฮวยได้เช่นกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเก๊กฮวยและใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากเก๊กฮวยด้วยความระมัดระวัง หากพบความผิดปกติหลังการบริโภค เช่น มีผื่น มีความผิดปกติในการหายใจ หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ทันที
- เก๊กฮวยอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด ผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากเก๊กฮวย
- น้ำมันที่ได้จากการสกัดดอกเก๊กฮวยจะประกอบด้วยสารไพรีทรัม (Pyrethrum) ซึ่งเหมือนสารประกอบในยาฆ่าแมลง ดังนั้นจึงควรใช้น้ำมันชนิดนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะการสัมผัสโดนโดยตรงหรือใช้เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนัง ปาก ตา และจมูกได้
น้ำเก๊กฮวย
- ดอกเก๊กฮวย 60 กรัม
- น้ำสะอาด 3 ลิตร
- น้ำตาลกรวด 250 กรัม หรือน้ำตาลทรายแดง 500 กรัม
วิธีทำ น้ำเก๊กฮวย
- ตั้งหม้อ นำน้ำสะอาดและน้ำตาลใส่ลงไป ต้มให้เดือด
- นำดอกเก๊กฮวยใส่ลงไปในหม้อ กดลงไปให้โดนน้ำทั่วทั้งหมด แต่ไม่คนแรง เพราะจะทำให้ขม
- จากนั้นปิดไฟ ปิดฝาหม้อ พักไว้ประมาณ 30 นาที
- ใช้ผ้าขาวบางวางบนกระชอน ตักดอกเก๊กฮวยออกจากหม้อ แล้วเทน้ำเก๊กฮวยกรองลงไป
- บรรจุใส่ภาชนะ แช่ตู้เย็น หรือใส่น้ำแข็งดื่มได้เลย
เข้าชม : 375
|