กระเจี๊ยบแดง
ชื่อสมุนไพร กระเจี๊ยบแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง) กระเจี๊ยบ ส้มพอเหมาะ ส้มเก็ง (ภาคเหนือ) ส้มพอดี (อีสาน) ส้มปู (แม่ฮ่องสอน) แบบมีฉี่ แต่เพะฉ่าเหมาะ (กะเหรี่ยง) ปร่างจำบู้ (ปะหล่อง)
ชื่อสามัญ Rosella , Jamaica Sorrel, Red Sorrel ,Roselle
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn
วงศ์ Malvaceae
ถิ่นกำเนิดกระเจี๊ยบแดง
กระเจี๊ยบแดง มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดาน รวมถึงประเทศใกล้เคียงในแถบทวีปแอฟริกาแล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังทั่วโลก เช่น อินเดีย มาเลเซีย และประเทศไทย โดยในประเทศไทยนั้นพบบันทึกการปลูกในไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยกรมประชาสงเคราะห์ได้นำกระเจี๊ยบแดงพันธุ์ซูดานเข้ามาปลูกที่นิคมสร้างตัวเอง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี แล้วจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังภาคต่างๆทั่วประเทศ ในปัจจุบันมีแหล่งเพาะปลูกกระเจี๊ยบแดงที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา
ประโยชน์และสรรพคุณกระเจี๊ยบแดง
- แก้อาการขัดเบา
- แก้เสมหะ
- ช่วยขับน้ำดี
- ช่วยลดไข้
- แก้ร้อนใน
- แก้ไอ
- ขับนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- แก้อ่อนเพลีย
- บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต
- แก้กระหายน้ำ
- รักษาไตพิการ
- ขับเมือกมันให้ลงสู่รูทวารหนัก ละลายไขมันในเลือด
- เป็นยาระบาย
- แก้ไตพิการ
- ลดอาการบวม
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- เป็นยาฆ่าพยาธิตัวจี๊ด
- รักษาแผลอักเสบ แผลติดเชื้อ
- แก้โรคเบาหวาน
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
- ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต
- ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ขับปัสสาวะ ให้ใช้กลีบกระเจี๊ยบแดงแห้ง บดเป็นผง 3 กรัม (หรือ 1 ช้อนชา) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน ถึง 1 ปี หรือจนกว่าอาการจะหาย รักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะแล้วดื่มน้ำตาม วันละ 3-4 ครั้ง ช่วยแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด หรือจะใช้ผลอ่อนนำมาต้มรับประทานติดต่อกัน 5-8 วัน หรือจะใช้ทั้งต้นใส่หม้อต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวไฟจนงวดให้เหลือ 1 ส่วน แล้วผสมกับน้ำผึ้งกึ่งหนึ่ง ใช้รับประทานวันละ 3 เวลา หรือจะรับประทานน้ำยาเปล่า ๆ ก็ได้จนหมดน้ำยา แก้อาการขัดเบา โดยใช้กลีบเลี้ยงของผลหรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง นำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง นำมาใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (ประมาณ 3 กรัม) ใช้ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) แล้วนำมาเฉพาะน้ำสีแดงใส วันละ 3 ครั้ง ดื่มติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายไป
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- การใช้กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
- ในเพศชาย ควรหลีกเลี่ยงการกินกระเจี๊ยบแดงติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากผลการศึกษา ในสัตว์ทดลองพบว่า ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ของอัณฑะและตัวอสุจิได้ส่วนในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกันเพราะมีผลการศึกษาในหนูทดลองพบว่าอาจทำให้ลูกหนูเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง
- จากการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่าหากรับประทานกระเจี๊ยบแดงในขนาดที่สูงและเป็นเวลานานอาจทำให้เป็นพิษต่อตับได้
- ผู้ที่มีภาวการณ์ทำงานของไตบกพร่อง ไม่ควรรับประทานกระเจี๊ยบแดง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกระเจี๊ยบแดง
สูตรเครื่องดื่ม น้ำกระเจี๊ยบ
ส่วนผสม น้ำกระเจี๊ยบ
- กระเจี๊ยบแห้ง 50 กรัม
- น้ำสะอาด 5 ลิตร
- น้ำตาลทราย 500 กรัม
- เกลือ 1 ช้อนชา
วิธีทำ น้ำกระเจี๊ยบ
- นำดอกกระเจี๊ยบแห้งมาล้างน้ำให้สะอาด ล้างฝุ่นออก สะเด็ดน้ำให้แห้ง
- จากนั้นก็ต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือ และดอกกระเจี๊ยบแห้งที่เตรียมไว้
- ต้มประมาณ 20 นาที ดูให้น้ำออกเป็นสีแดงสดดี หรือดูสีดอกกระเจี๊ยบที่ต้ม ถ้าสีซีดลง ตักดอกกระเจี๊ยบออก
- ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนให้ละลาย ลองชิมรสเติมหวานเค็มได้ตามชอบ
- นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง
- รอให้เย็น นำไปแช่ตู้เย็นหรือใส่น้ำแข็ง ดื่มเย็นๆ รับรองสดชื่น
เข้าชม : 580
|